ชง 2 รูปแบบ คกก.สมานฉันท์

2020-11-02 14:15:11

ชง 2 รูปแบบ คกก.สมานฉันท์

Advertisement

สถาบันพระปกเกล้าเสนอ 2 รูปแบบ คณะกรรมการสมานฉันท์ “ชวน” เตรียมเดินสายทาบทามอดีตนายกรัฐมนตรีร่วมทำงาน

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา แถลงภายหลังมอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้า พิจารณาโครงสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์ หลังที่ประชุมรัฐสภา เสนอให้มีกลไกคณะกรรมการมาสร้างความปรองดองสมานฉันท์ว่า สถาบันพระปกเกล้า ได้เสนอพิจารณาคณะกรรมการ 7-9 คน 2 รูปแบบ รูปแบบแรก คือ รูปแบบตามที่นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เสนอ 7 ฝ่าย ทั้งที่มีอำนาจตัดสินใจ และเป็นตัวแทน ทั้งจาก ครม. ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน วุฒิสภา และตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งหากขาดกลุ่มใดกลุ่มหนี่ง ก็จะทำให้องค์ประชุมไม่ครบ หรือลดเหลือ 5 ฝ่าย โดยลดตัวแทนผู้ชุมนุม และผู้เห็นต่าง เพื่อลดการเผชิญหน้า  รูปแบบที่ 2 คือ การมีคนกลางตามที่แต่ละฝ่ายเสนอให้เป็นกรรมการ โดยการเสนอจากทุกฝ่าย หรือ ให้ประธานรัฐสภา ไปสรรหาบุคคล หรือ ประธานรัฐสภาตั้งประธานคณะกรรมการ และให้ประธานกรรมการไปคัดเลือกบุคคลคัดเลือก ซึ่งยังไม่แน่ใจว่า กรรมการที่จะไปทาบทามนั้น จะตอบรับหรือไม่  โดยประธานรัฐสภา จะนำทั้ง 2 รูปแบบ ไปพิจารณาว่า ในรูปแบบแรก จะสามารถดำเนินการหาบุคคลได้ครบถ้วนหรือไม่ ถ้าไม่ ก็จะนำรูปแบบที่ 1 มาผสมกับรูปแบบที่ 2 ซึ่งจะใช้จำนวนคนไม่มาก แต่จะต้องสามารถแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้

นายชวน  กล่าวต่อว่า  ได้มีการพูดคุยกับอดีตนายกรัฐมนตรีส่วนหนึ่ง ซึ่งหลายคนสนับสนุน และส่วนหนึ่งยังขอรอฟังความชัดเจนก่อน แต่จะเร่งดำเนินการไปทาบทามอดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตประธารัฐสภามาช่วยทำหน้าที่ เพราะถือเป็นฝ่ายปฏิบัติ

นายชวน ยังกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า นายกรัฐมนตรี ได้ส่งสัญญาณในการประชุมรัฐสภาแล้ว จึงเชื่อว่า วุฒิสภาจะสนับสนุน เพื่อลดความกังวลในสังคม ส่วนเรื่องการชุมนุมที่รัฐบาลดูแลอยู่แล้วนั้น หากมีส่วนที่สภาสามารถไปช่วยบรรเทาได้ ก็พร้อมดำเนินการ โดยให้สถาบันพระปกเกล้า เชิญบุคคลที่ผ่านหลักสูตรการปรองดองในสังคม มาคุยกัน มาหารือกัน เพื่อลดความขัดแย้งรุนแรง การคุกคาม เพื่อนำไปสู่ความปรองดอง อาทิ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาพูดคุยถึงทัศนะคติของนักศึกษา

นายชวน กลาวว่า จะคุยกับผู้นำฝ่ายค้าน และตัวแทนรัฐบาลเป็นการภายใน เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการหารือ แม้จะไม่ได้เป็นตัวแทนกรรมการก็ตาม

นายชวน ยังกล่าวถึงข้อเรียกร้องที่ให้มีพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยถึงการปฏิรูปสถาบัน ว่า การพูดคุยสามารถตั้งธงได้ แต่จะต้องเป็นไปตามมติคณะกรรมการที่กำหนดว่า จะให้มีการหารือหรือไม่ แต่ไม่อยากให้นำสถาบันเข้ามาเป็นเงื่อนไข เพราะตามรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้