ปชช.ชม"ม็อบเด็ก"ชุมนุมสงบ วอนเรียกร้องเฉพาะการเมือง

2020-10-24 09:55:37

ปชช.ชม"ม็อบเด็ก"ชุมนุมสงบ วอนเรียกร้องเฉพาะการเมือง

Advertisement

"ซูเปอร์โพล" เผย ปชช. ชม "ม็อบเด็ก" ชุมนุมสงบ วอนเรียกร้องเฉพาะการเมือง เลี่ยงจาบจ้วง "สถาบัน"

เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง "จุดร่วม คนไทย" กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมทั้งสิ้น 3,135 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18-23 ต.ค. ที่ผ่านมา เมื่อถามความเห็นของประชาชนต่อม็อบเยาวชน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 96.7 ระบุว่า ควรชุมนุมเรียกร้องเฉพาะเรื่องการเมือง อย่าจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบัน ขณะที่ร้อยละ 96.4 ระบุว่า เป็นการชุมนุมด้วยความสงบ ไม่วุ่นวาย เป็นความหวังให้ประเทศได้ โดยชุมนุมได้ดีกว่าม็อบเสื้อสีต่างๆ ที่มีแต่สร้างความแตกแยกรุนแรงบานปลายในอดีต และร้อยละ 93.7 ระบุว่า ม็อบเยาวชน มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สงบ ไม่รุนแรงบานปลาย เป็นแบบอย่างให้ม็อบเยาวชนทั่วโลกทำตาม ที่น่าสนใจ คือ ความต้องการให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองทำเพื่อเด็กและเยาวชน เมื่อเทียบจากคะแนนเต็ม 10 พบว่า อันดับแรก ได้แก่ ช่วยเหลือให้เด็กมีอนาคตที่ดี มีงานทำ มีรายได้ดี ได้ 8.04 คะแนน รองลงมาอันดับสอง คือ เป็นแบบอย่างพลเมืองที่ดี มีจิตอาสา ช่วยเหลือเกื้อกูลเด็กและเยาวชน ได้ 7.94 คะแนน อันดับที่สามได้แก่ เป็นแบบอย่างที่ดี มีวินัย เป็นทั้งคนเก่ง คนดี คนกล้า ให้เยาวชนทำตาม ได้ 7.90 คะแนน อันดับที่สี่ ได้แก่ สำนึกรักชุมชนท้องถิ่น รู้คุณแผ่นดิน ปกป้องสถาบันหลักของชาติ ได้ 7.75 คะแนน และอันดับที่ห้า ได้แก่ มีทัศนคติที่ดีต่อชาติบ้านเมือง ได้ 7.49 คะแนน ตามลำดับ

ที่น่าพิจารณา คือ เมื่อถามถึงจุดร่วมคนไทย ระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 65.1 ระบุว่า สำนึกรู้คุณแผ่นดิน สำนึกรักบ้านเกิด ชุมชนท้องถิ่น รองลงมา คือ ร้อยละ 63.4 ระบุ ว่า ความสะดวกสบาย ขณะที่ร้อยละ 63.2 ระบุว่า มีทัศนคติที่ดีต่อชาติบ้านเมือง ร้อยละ 62.8 ระบุ ต้องการความปลอดภัยในชีวิต ร้อยละ 62.5 ระบุว่า เป็นพลเมืองที่ดี มีจิตอาสา ร้อยละ 62.1 ระบุว่า มีความมั่นคงในชีวิต ร้อยละ 61.8 ระบุว่า มีอนาคตที่ดี ร้อยละ 60.4 ระบุว่า มีงานทำ มีรายได้ดี และร้อยละ 58.8 ระบุว่า มองหามหามิตรต่างชาติ จีน สหรัฐอเมริกา ช่วยทำประเทศไทยสงบสุข ไม่วุ่นวาย ไม่แทรกแซงภายในประเทศไทย ที่น่าสนใจ คือ เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นคนดี จริงใจแก้ปัญหาชาติบ้านเมือง เทียบจากคะแนนเต็ม 10 พบว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ 5.79 คะแนน ถือได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังสอบผ่าน มีความหมายว่า ประชาชนยังคงเชื่อมั่นว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนดี จริงใจแก้ปัญหาเพื่อชาติบ้านเมือง




ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ม็อบเยาวชนซึ่งเป็นเด็กไทยที่ทำต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันกว่า 3 เดือนแล้ว เป็นม็อบที่ค่อนข้างเรียบร้อย มีเหตุวุ่นวายบ้างเป็นจุดๆ แตกต่างจากม็อบคนรุ่นใหม่ฮ่องกง ที่ชุมนุมยาวนานกว่า 1 ปีจนเกิดความแตกแยกรุนแรงบานปลาย เศรษฐกิจพังพินาศ ยิ่งกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางที่เกิดม็อบคนรุ่นใหม่ คนตะวันออกกลางยิ่งเสียหายหนักกว่า แต่ม็อบเด็กเยาวชนไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าจะควบคุมได้ เพราะเด็กเยาวชนไทยส่วนใหญ่มีพื้นฐานจิตใจที่ดี บริสุทธิ์ เพียงแต่เจอขบวนการปั่นกระแสอันเป็นเท็จในโลกโซเชียลที่ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ หรือคนเพียงหยิบมือที่หลอกลวงให้เข้าใจผิดว่าอยู่ในต่างประเทศ ถ้าจะจัดการต้องจัดการกับพวกอยู่เบื้องหลังการปั่นกระแสแตกแยกของคนในชาติ เพราะอาจกลายเป็นเล่นตามเกมของพวกจ้องทำลายประเทศไทย การปั่นกระแสในโลกโซเชียลนี้ ทำให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อความแตกแยกของคนในชาติที่จะรุนแรงบานปลายมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าขาดการบริหารจัดการอารมณ์ของประชาชนที่ดี ทั้งบนโลกออนไลน์ (Online) และบนโลกจริงลงพื้นที่ (On-ground) ผลที่ตามมา คือ การคุกคามทำร้ายกลุ่มคนที่เห็นต่างจะเกิดขึ้นในวงกว้างจนยากจะควบคุมได้ ดังนั้น “ชาติ สร้าง เยาวชน” คือ ทางออก โดยนำ จุดร่วม คนไทย มาวิเคราะห์ขยายผล ให้นายกรัฐมนตรีเร่งสั่งการทุกภาคส่วนของอำนาจรัฐ (State Power) และรณรงค์ประชาชนที่ไม่เกี่ยวกับอำนาจรัฐ (Non-State Power) ร่วมแรงร่วมใจตอบโจทย์ตรงเป้าความต้องการของกลุ่มย่อยๆ เป็นการเฉพาะกลุ่มในม็อบเด็กเยาวชน เช่น กลุ่ม LGBT จะช่วย “ทอน” กำลังของ “ธร” และพรรคพวกเบื้องหน้าเบื้องหลัง ทำให้ม็อบฝ่อ ลงไปได้

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า ในเวลาเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ยังสามารถเพิ่มความเชื่อมั่นของประชาชนและฐานสนับสนุนได้มากขึ้นอีก โดยนำผลงานที่ริเริ่มในรัฐบาลปัจจุบันเกี่ยวข้องกับความหวัง (Hope) อนาคต (Future) ของกลุ่มเด็กและเยาวชน เช่น โครงการต่างๆ ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่เกิดขึ้นในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งช่วยเหลือเด็กนักเรียนยากจนพิเศษหลายแสนรายทั่วประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ดูแลพวกเขาและผู้ปกครองของพวกเขาให้มีงานทำ มีอนาคตที่ดี ตัวอย่างเหล่านี้ทำไมรัฐบาลไม่เอามาขยายผลให้เด็กรู้ เชื่อมั่นและสนับสนุน ถ้าทำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มีกองทุนฯ นี้ ผลที่จะตามมา คือ ทัศนคติที่ดีของเด็กเยาวชนต่ออนาคตของตนเองต่อชาติบ้านเมือง ต่อสถาบัน และต่อรัฐบาลที่ดี ย่อมเกิดขึ้นจนสามารถเปลี่ยนจากการรับรู้ (Perception) กลายเป็นเรื่องราว (Story) ที่จดจำ (Remarkable) ได้ในกลุ่มประชาชนทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่าผู้รักชาติบ้านเมืองและสถาบันอย่างเข้มแข็ง