ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ "ต้นเทียนสิรินธร" สำเร็จ

2020-10-21 23:05:59

ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ "ต้นเทียนสิรินธร" สำเร็จ

Advertisement

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสำเร็จ "ต้นเทียนสิรินธร" ต้นไม้หายากที่เดียวในโลก


ผศ.ดร.ไซนีย๊ะ สะมาลา อาจารย์ประจำสาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ต้นเทียนสิรินธร เป็นพืชเฉพาะถิ่นพบได้แนวเทือกเขาหินปูนที่เดียวในโลก โดยโซนภาคใต้พบที่ จ.กระบี่ และ เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี  ใช้ระยะเวลาในการศึกษา ตั้งแต่การสำรวจ เก็บตัวอย่าง ระบุสายพันธุ์ ซึ่งจากการสำรวจ 3 ปี พบว่าต้นเทียนสิรินธรน้อยลงทุกปี จึงมีความจำเป็นในการอนุรักษ์พันธุ์ ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จนถึงการอนุบาลปลูกจนสำเร็จใช้ระยะเวลากว่า 5 ปี โดยได้ร่วมกับนักศึกษาสาขาชีวะวิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำการขยายพันธุ์ต้นเทียนสิรินธร ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ในตู้ปลอดเชื้อ ภายในศูนย์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เพื่อขยายพันธุ์จากต้นที่ผ่านจากเพาะเนื้อเยื่อมาแล้ว ให้ได้จำนวนมากขึ้น


จากนั้นก็จะนำไปวางเลี้ยงในห้องปลอดเชื้อที่ควบคุมอุณหภูมิ ประมาณ 3 เดือน ก่อนลงแปลงอนุบาลปลูก ใช้ระยะเวลอีกประมาณ 4-6 เดือน ต้นเทียนสิรินธร จะเริ่มให้ดอกที่สวยงาม อยู่ได้ 2 สัปดาห์ก็จะโรย แต่ในหนึ่งกอมีหลายต้น จึงทำให้เห็นดอกตลอดทั้งปี และจะมีดอกมากในช่วง เดือน ก.ย.-ต.ค. ซึ่งโครงการอนุรักษ์เทียนสิรินธร บริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา อุทยานแห่งชาติเขาสก โดยการขยายพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีการเพราะเลี้ยงเนื้อเยื้อ เป็นงานวิจัยระหว่าง มหาวิทยาลัยราขภัฏสุราษฎร์ธานี กับ อุทยานแห่งชาติเขาสก โดยได้รับงบประมาณจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (เขื่อนรัชชประภา) และเป็นโครงสนองพระราชดำริ โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราขดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราขสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)


สำหรับต้นเทียนสิรินธร ถือเป็นต้นไม้หายาก ถูกค้นพบในปี 2009 โดยดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ และ ดร.ปิยเกษตร สุขสถาน ได้รายงานว่าพบพืชชนิดใหม่ของโลกและเป็นพืชเฉพาะถิ่นพบได้เฉพาะ จ.สุราษฎร์ธานีและ จ.กระบี่ ก่อนจะได้รับพระทานนามจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ว่า “ต้นเทียนสิรินธร” หรือ ชมพูสิริน ตามลักษณะของดอกที่สวยงาม


ต้นเทียนสิรินธร จัดอยู่ในวง Balsaminaceae เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบเฉพาะทางภาคใต้ที่ จ.กระบี่ และสุราษฎร์ธานี ขึ้นตามหน้าผาที่เป็นหินปูน ระดับความสูง 20-150 เมตร โดยที่สุราษฎร์ธานี พบที่ อ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา ในพื้นที่รับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติเขาสก สามารถขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศโดยใช้เมล็ด และแบบไม่อาศัยเพศ โดยการปักชำ แต่ด้วยสภาวะอากาศร้อนทำให้บริเวณเขาหินปูนมีสภาวะที่แห้งแล้งขึ้น ส่งผลทำให้จำนวนประชากรของเทียนสิรินธรมีจำนวนลดลง จึงจำเป็นที่จะต้องหาวิธีการเพื่อขยายพันธุ์และอนุรักษ์พันธุกรรมของพืชชนิดนี้ ซึ่งการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อก็สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้รวดเร็วและได้จำนวนมาก




งานวิจัยการอนุรักษ์เทียนสิรินธร ยังคงได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (เขื่อนรัชชประภา) อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีประโยชน์ต่อชุมชน ซึ่งเป็นนโยบายหลักของการไฟฟ้า ที่เน้นการมีส่วนร่วมกับชุมชน โดยหลังจากนี้จะมีการนำคืนถิ่น แต่คงคืนในปริมาณไม่มาก เพื่อไม่กระทบต่อระบบนิเวศ แต่จะร่วมกับชุมชนนำพันธุ์ที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ไปขยายพันธุ์ในชุมชน เพื่อเป็นของฝากและสัญลักษณ์ของการท่องเที่ยวต่อไป