กรมสุขภาพจิตห่วง“กลุ่มจิตอาสา”เสี่ยงเครียดสะสม

2017-10-15 10:10:49

กรมสุขภาพจิตห่วง“กลุ่มจิตอาสา”เสี่ยงเครียดสะสม

Advertisement

รมสุขภาพจิตห่วงใย“กลุ่มจิตอาสา”เสี่ยงเครียดสะสม จากความรู้สึกร่วมโศกเศร้าระหว่างปฏิบัติงาน แนะวิธีทำงานให้เกิดความสุขใจ คือ ทำในบทบาทที่ถนัดที่สุด จัดเวลาให้พอเหมาะ ไม่คาดหวังกับผลลัพธ์การบำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ ขอให้ระลึกเสมอว่าตนเองได้ทำดีที่สุดในวันนี้ 

เมื่อวันที่ 15 ต.ค. น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า ยิ่งใกล้วันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร วันที่ 26 ต.ค. 2560 ที่จะมาถึง ส่งผลให้เกิดความรู้สึกใจหายแม้ว่าระยะเวลาจะผ่านมา 1 ปีแล้วก็ตาม กลุ่มที่กรมสุขภาพจิตเป็นห่วงใยไม่น้อยไปกว่าประชาชนทั่วไปคือกลุ่มจิตอาสา ซึ่งเป็นกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจิตด้วยเช่นกัน อาจเกิดความเครียดสะสมอันเนื่องมาจากหลายๆ สาเหตุระหว่างการปฏิบัติงาน ได้แก่ 1. ความรู้สึกที่ต้องอยู่กับสถานที่และผู้คนที่มีความโศกเศร้าจำนวนมาก ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกโศกเศร้าร่วมกันได้ 2. การทำงานภายใต้ความกดดันที่ต้องดูแลคนจำนวนมากติดต่อเป็นเวลานาน อาจจะไม่ได้พักผ่อน ทำให้เกิดความเมื่อยล้า 3. การช่วยเหลือที่ไม่เป็นไปอย่างที่ตนเองคาดหวัง หรือประชาชนคาดหวังกับกิจกรรมของจิตอาสา 4. การทำงานที่อาจจะไม่ตรงตามความถนัดหรือบทบาทของตนเอง หรือมีความขัดแย้งกันในกลุ่มของจิตอาสาด้วยกัน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นให้ผู้ช่วยเหลือหรือจิตอาสาเกิดความเครียด อาจมีอารมณ์หงุดหงิดโดยไม่มีสาเหตุ มีอาการมึนงง เหม่อลอย หลงลืม ร้องไห้ไม่มีสาเหตุ หรือฝันถึงเหตุการณ์ร้ายซ้ำๆ ซึ่งเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ อันเนื่องมาจากความเครียดสูงในการทำงานเป็นจิตอาสาได้


อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ในการปฏิบัติหน้าที่จิตอาสาให้เกิดความสุขใจ มีคำแนะนำสำหรับประชาชนที่อาจจะไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำจิตอาสามาก่อนดังนี้ 1. จิตอาสาต้องตระหนักในตนเองอยู่เสมอว่าได้ทำสิ่งที่ตนเองถนัดในบทบาทอะไร สามารถทำได้มากน้อยเพียงใด โดยที่ไม่มีผลกระทบต่อหน้าที่การงานและกิจวัตรประจำวันในปกติของตนเองและครอบครัว 2. จิตอาสาได้ทำกิจกรรมที่ตนเองถนัดและเกิดคุณค่าในตนเอง รู้สึกมีความสุขใจที่ได้กระทำ ก็ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับการทำสิ่งนั้น 3. สามารถพูดคุยปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการช่วยเหลือระหว่างกลุ่มจิตอาสาด้วยกันในแต่ละวัน ซึ่งอาจจะเป็นช่วงเย็นหรือค่ำก่อนจะเลิกกิจกรรม โดยพูดถึงกิจกรรมที่เกิดประโยชน์ และมีความสุขใจที่ได้ทำอะไรไป ชื่นชมในข้อดี ขอบคุณกัน เก็บประสบการณ์ที่ดีต่อกันและกัน ไม่โทษซึ่งกันและกันในกลุ่ม 4. อาจจำเป็นต้องสับเปลี่ยนกำลังในการเป็นจิตอาสา ซึ่งแต่ละคนต้องกลับไปทำบทบาทในหน้าที่ของตนเองในชีวิตประจำวันและครอบครัว ไม่ให้กระทบเวลาของตนเองและครอบครัวจนเกินไป




ทางด้าน นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผอ.รพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์ กล่าวว่า จิตอาสาจะต้องไม่คาดหวังกับผลลัพธ์จากการให้บริการบำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ เช่นความโกรธ ความไม่พอใจของผู้มารับบริการ หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่เป็นไปตามกำหนด เป็นต้น ขอให้ระลึกเสมอว่าตนเองได้ทำดีที่สุดในวันนี้แล้วและเกิดคุณค่ามีความภูมิใจที่ได้ทำแล้ว หากรู้สึกว่าตนเองไม่สบาย เช่นมีอาการอ่อนเพลียเมื่อยล้า หรือมีอาการทางจิตใจอารมณ์ เช่นหงุดหงิดง่ายกระวนกระวายใจ อารมณ์ฉุนเฉียว หรือมีอารมณ์ซึมเศร้า ให้หยุดพักและผ่อนคลายด้วยตนเอง ไม่ฝืนทำต่อ และให้พักผ่อน ให้ระลึกตนเองเสมอว่าเราต้องดูแลตนเองให้มีสุขภาพกายและใจที่เข้มแข็งสุขภาพแข็งแรงด้วย เป็นอันดับแรกเสมอ


“จิตอาสาทุกคนจะมีความเครียดมากกว่าผู้อื่น เพราะได้ทำหน้าที่ของตนเองเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ดังนั้นจึงขอแนะนำให้ผู้ที่มีความไม่สบายทางกายหรือทางด้านจิตใจอยู่เดิมแล้ว อาจจะสามารถเลือกเป็นจิตอาสาได้ในกรณีที่เป็นงานเบาๆ และไม่เครียดจนเกินไป เช่น การทำดอกไม้จันทน์ การแจกสิ่งของ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ตัวเองเกิดความภาคภูมิใจ และไม่เกิดความเครียดสะสมจนเกินไปนัก สำหรับกรณีที่จิตอาสามีความเครียดมาก ซึ่งมีอาการดังต่อไปนี้ปรากฏ อาทิ ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ หายใจไม่อิ่ม ปวดเมื่อยตามตัวมาก ครุ่นคิดเกี่ยวกับเรื่องการสูญเสีย มีอารมณ์เศร้าหมองร้องไห้บ่อยๆ หรือคิดวนเวียนเกี่ยวกับความสูญเสียซ้ำไปซ้ำมา ขอแนะนำให้หยุดพัก และขอรับการปรึกษากับหน่วยแพทย์พยาบาลในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อบรรเทาความเครียด พร้อมทั้งขอให้จิตอาสานึกถึงสิ่งที่ตนเองได้ปฏิบัติในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดกำลังใจ ความภาคภูมิใจต่อตนเอง "นพ.กิตต์กวี กล่าว