การเมืองวุ่น ๆ ในคีร์กีซสถาน หลังโกงเลือกตั้ง จนฝ่ายค้านยึดอำนาจ

2020-10-08 08:05:46

การเมืองวุ่น ๆ ในคีร์กีซสถาน หลังโกงเลือกตั้ง จนฝ่ายค้านยึดอำนาจ

Advertisement


หลายวันของความโกลาหล ที่เกิดจากกลุ่มผู้ประท้วงบุกยึดอาคารของรัฐบาล และปล่อยตัวนักโทษการเมืองคนสำคัญ ซึ่งรวมทั้งนายซาดีร์ จาปารอฟ ที่ถูกลงโทษจำคุกนาน 11 ปี ในข้อหาลักพาตัวผู้ว่าการภูมิภาคแห่งหนึ่งระหว่างการประท้วงของกลุ่มฝ่ายค้านเมื่อ 7 ปีก่อน ขณะที่ อดีตประธานาธิบดีอัลมัซเบก อาตัมบาเยฟ ก็ถูกลงโทษจำคุก 11 ปี ในข้อหาคอร์รัปชั่น ได้รับการปล่อยตัวเช่นกัน

มีหนุ่มวัย 19 ปี เสียชีวิตและเกือบ 700 คน บาดเจ็บ ในการปะทะกันกับกองกำลังรักษาความมั่นคง ด้านคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง แถลงว่า ได้ประกาศให้ผลการเลือกตั้งเป็นโมฆะแล้ว โดยพิจารณาสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเป็นองค์ประกอบสำคัญ ทำเนียบประธานาธิบดียังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มผู้ประท้วงเมื่อวันอังคาร



ในเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองเพียง 4 พรรคเท่านั้นจากทั้งหมด 16 พรรค ได้รับเลือกเข้าสู่สภา ซึ่งในจำนวน 4 พรรค มี 3 พรรคที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีโซโรนบัย เจนเบคอฟ และที่สำคัญคือไม่มีพรรคการเมืองฝ่ายค้านได้ที่นั่งแม้แต่ที่นั่งเดียวในรัฐสภา และในวันจันทร์ที่ผ่านมา กลุ่มฝ่ายค้าน 12 กลุ่ม ก็ร่วมกันประกาศว่า พวกเขาจะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยกล่าวหาพรรคการเมืองที่มีความใกล้ชิดกับประธานาธิบดีว่า ซื้อเสียง และข่มขู่คุกคามประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ซึ่งเป็นคำกล่าวอ้างที่กลุ่มผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศ บอกว่า “น่าเชื่อถือ” และน่า “วิตกกังวลอย่างมาก”

ผู้สังเกตการณ์บางคนอ้างว่า ในช่วงหย่อนบัตรชั่วโมงแรก ได้เห็นประชาชนบางคน ซึ่งสวมหน้ากากอนามัยได้รับบัตรเลือกตั้งที่กาไว้แล้ว นอกจากนี้ พวกเขายังกล่าวหาด้วยว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รับสินบนและมีรถบัสนำส่งตามหน่วยเลือกตั้งหลายแห่ง ที่อาจทำให้ผลการเลือกตั้งพลิกผัน



ด้านนายคูบัตเบก โบโรนอฟ นายกรัฐมนตรีคีร์กีซสถาน ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวานนี้ (พุธ) หลังประชาชนลุกฮือประท้วงหลังการเลือกตั้งทั่วไป ฉุดให้อดีตสาธารณรัฐในสหภาพโซเวียตแห่งนี้ เข้าสู่ความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมือง โดยนายจาปารอฟ ได้รับการแต่งตั้งให้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน

กลุ่มฝ่ายค้านได้บุกยึดอาคารรัฐสภาไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยบอกว่า การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีการโกงกันอย่างแพร่หลาย ขณะที่รัสเซียและจีน ต่างแสดงความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตดังกล่าว

เมื่อวานนี้เช่นกัน ฝูงชนกลุ่มใหญ่มารวมตัวกันในกรุงบิชเคก เมืองหลวงของคีร์กีซสถาน เพื่อเรียกร้องให้ถอดถอน หรืออิมพีชเมนต์ ประธานาธิบดีเจนเบคอฟ ออกจากตำแหน่ง ซึ่งเขาก็พูดเป็นนัยก่อนหน้านี้ว่า พร้อมที่จะลาออกจากตำแหน่ง และมอบความรับผิดชอบให้ผู้นำที่เข้มแข็ง แต่ปฏิเสธที่จะบอกว่า เขามีใครอยู่ในใจหรือไม่

นายเจนเบคอฟ ให้สัมภาษณ์พิเศษทางโทรศัพท์กับบีบีซี จากสถานที่ลับแห่งหนึ่งว่า จุดประสงค์หลักของกลุ่มผู้ประท้วงไม่ได้อยู่ที่การยกเลิกผลการเลือกตั้ง แต่ต้องการให้เขาพ้นจากอำนาจ พร้อมกันนั้น เขาก็เรียกร้องให้ทุกฝ่ายกลับคืนสู่ “สนามที่ถูกต้องตามกฎหมาย” และทำงานร่วมกันเพื่อหลีกเลี่ยงความวุ่นวายทางการเมืองเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต



ประธานาธิบดีเจนเบคอฟ ยังเรียกร้องให้ฝ่ายค้านหยุดประท้วง และสั่งห้ามกองกำลังรักษาความมั่นคงใช้อาวุธกับประชาชน และย้ำว่า เขาพร้อมที่จะเข้าร่วมการแข่งขันเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา ซึ่งผลการเลือกตั้งถูกประกาศให้เป็นโมฆะไปแล้ว ในแถลงการณ์ฉบับหนึ่งที่เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของเขา นายเจนเบคอฟ ระบุว่า การกระทำของกลุ่มผู้ประท้วง ซึ่งยึดอำนาจรัฐบาลและสำนักงานใหญ่ด้านความมั่นคงนั้น เป็นความต้องการของกลุ่มการเมืองบางกลุ่มในการยึดอำนาจอย่างผิดกฎหมาย

“เพื่อแก้ปัญหานี้ ผมพร้อมที่จะมอบความรับผิดชอบให้บรรดาผู้นำที่เข้มแข็ง ไม่ว่าจะอยู่กลุ่มใด ผมพร้อมที่จะช่วยเหลือพวกเขา” เขากล่าวเพิ่มเติม

ในการกล่าวปราศรัยผ่านทางวิดีโอก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีกล่าวหาว่ามี “กลุ่มการเมือง” ใช้ผลการเลือกตั้งเป็นเหตุผล “ทำลายความสงบเรียบร้อยของสาธารณชน” พวกเขาไม่เคารพกฎหมาย ทำร้ายเจ้าหน้าที่แพทย์และอาคารต่าง ๆ



ส่วนกลุ่มสังเกตการณ์ระบุว่า ดูเหมือนว่า นายเจนเบคอฟ ซึ่งได้รับเลือกตั้งในปี 2560 สูญเสียอำนาจทั้งหมดแล้ว แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่า ใครจะเข้ามารับตำแหน่งแทนที่เขา

ทั้งนี้ มีประธานาธิบดี 2 คนถูกโค่นอำนาจในคีร์กีซสถานในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

บรรดาแกนนำฝ่ายค้าน ได้ตั้งสภาประสานงานขึ้นมาชุดหนึ่ง แต่ก็มีรายงานว่า พวกเขามีความคิดเห็นที่แตกแยกกัน ในกรณีที่ว่าจะให้ใครรับตำแหน่งที่มีอิทธิพลในรัฐบาล

ด้านทำเนียบเครมลิน แถลงว่า มีความวิตกกังวลอย่างมาก เกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยเมื่อวันพุธ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย แถลงว่า เขาหวังว่าจะเห็นการแก้วิกฤตอย่างสันติ และจะมีการฟื้นฟูกระบวนการประชาธิปไตยกลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ คีร์กีซสถานต้องพึ่งพาเศรษฐกิจจากรัสเซียเป็นหลัก และรัสเซียก็มีฐานทัพอยู่ในคีร์กีซสถานด้วย ขณะที่จีนก็เป็นหุ้นส่วนการค้าที่สำคัญ ซึ่งจีนก็แสดงความกังวลอย่างสูงเกี่ยวกับเหตุการณ์ในคีร์กีซสถาน