งานวิจัย "หลุมดำ" คว้าโนเบลฟิสิกส์ 2020

2020-10-07 06:50:56

งานวิจัย "หลุมดำ" คว้าโนเบลฟิสิกส์ 2020

Advertisement

รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ประจำปี พ.ศ. 2563 ตกเป็นของนักวิจัยระดับศาสตราจารย์ 3 สัญชาติ อังกฤษ เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา จากผลงานการค้นคว้าวิจัยเชิงลึก ที่ทำให้ชาวโลกมีความเข้าใจมากขึ้น เกี่ยวกับ “หลุมดำ” ปรากฏการณ์ลึกลับน่าพิศวงที่สุดของจักรวาล จากการประกาศของคณะกรรมการรางวัลโนเบล แห่งกรุงสตอกโฮล์ม สวีเดน เมื่อวันอังคาร (6 ต.ค.)

ประกาศของสำนักราชวิทยาลัยวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน ระบุว่า ผู้สมควรได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ประจำปีนี้ ได้แก่ ศ.โรเจอร์ เพนโรส ชาวอังกฤษแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ศ.ไรน์ฮาร์ด เกนเซล ชาวเยอรมัน แห่งสถาบันแม็กซ์ แพลงค์ ในเยอรมนี และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขต เบิร์คลีย์ ในสหรัฐอเมริกา และ ศ. แอนเดรีย เกซ ชาวอเมริกัน แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสแอนเจลีส

ศ.เกซ นับเป็นผู้หญิงคนที่ 4 ที่พิชิตรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ จากผู้พิชิตรางวัลสาขานี้กว่า 200 นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2444 โดยผู้หญิง 3 คนแรกได้แก่ มารี คูรี ในปี พ.ศ. 2446 มาเรีย เจฟเพิร์ด-ไมเออร์ ในปี 2506 และดอนนา สตริคแลนด์ ในปี 2561




ในคำสดุดีของคณะกรรมการโนเบล ตอนหนึ่ง กล่าวว่า ศ.เพนโรสนำเสนอทฤษฎีการก่อตัวของหลุมดำ โดยอาศัยการวิเคราะห์ตามหลักทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไป และจัดทำเป็นโมเดลครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2508 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า หลุมดำสามารถก่อตัว และกลายเป็นมวล ที่ไม่มีสิ่งใดสามารถเดินทางผ่านได้ แม้แต่แสง

ส่วน ศ.ไรน์ฮาร์ด และ ศ.เกซ นำเสนอทฤษฎีการก่อตัวของหลุมดำมวลยวดยิ่ง หรือ ซูเปอร์แมสซีฟ แบล็คโฮล (supermassive black hole: SMBH) ที่บริเวณศูนย์กลางของทางช้างเผือก ในห้วงอวกาศ



ผู้พิชิตรางวัลทั้ง 3 คน จะแบ่งรางวัลเงินสดเท่ากัน จากจำนวน 10 ล้านโครนาสวีเดน หรือประมาณ 35 ล้านบาท นอกเหนือจากใบประกาศเกียรติคุณ และเหรียญโนเบลทองคำ โดยพิธีรับมอบรางวัลจะมีขึ้นในวันที่ 10 ธ.ค. เหมือนทุกปี แต่เนื่องจากปีนี้เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้พิชิตรางวัลโนเบลทุกสาขา จะรับรางวัลผ่านระบบจอภาพทางไกล จากประเทศของแต่ละคน.