อาเซอร์ไบจาน-อาร์เมเนียยังปะทะเดือด ถล่มพื้นที่พลเรือน

2020-10-06 09:10:44

อาเซอร์ไบจาน-อาร์เมเนียยังปะทะเดือด ถล่มพื้นที่พลเรือน

Advertisement


อาเซอร์ไบจาน และอาร์เมเนีย ต่างกล่าวหาซึ่งกันและกันเมื่อวันจันทร์ว่า พุ่งเป้าโจมตีพื้นที่พลเรือน และบอกว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตกำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากการต่อสู้ที่ดุเดือดที่สุดในภูมิภาคคอเคซัสใต้ในรอบมากกว่า 25 ปี

เจนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต ออกมาเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายหยุดปะทะกันทันทีในภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค ซึ่งเป็นเขตภูเขาสูงในดินแดนของอาเซอร์ไบจานภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ แต่ชนกลุ่มน้อยชาวอาร์เมเนีย ปกครองและประชากรส่วนใหญ่ก็เป็นชนกลุ่มน้อยชาวอาร์เมเนีย แต่โอกาสในการหยุดยิงนั้น ดูเหมือนจะยังอยู่ห่างไกล หลังมีการยิงต่อสู้กันดุเดือดในช่วงสุดสัปดาห์ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตแล้วหลายร้อยราย ในการปะทะกัน ทั้งจากปืนใหญ่, รถถังและเครื่องบินรบตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา



อาเซอร์ไบจาน แถลงว่า หลายเมืองในอาเซอร์ไบจาน นอกภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค ถูกยิงถล่มต่อเนื่อง ทำให้การสู้รบขยับเข้าใกล้พรมแดนอาเซอร์ไบจาน ซึ่งเป็นพื้นที่วางท่อก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน ไปยังยุโรปมากขึ้น

ในการให้สัมภาษณ์ที่เผยแพร่โดยสถานีโทรทัศน์ตุรกี ประธานาธิบดีอิลฮัม อาลีเยฟ ผู้นำอาเซอร์ไบจาน กล่าวว่า อาร์เมเนีย ต้องถอนทหารออกจากดินแดนนากอร์โน-คาราบัค และพื้นที่โดยรอบของอาเซอร์ไบจาน เพื่อจะได้หยุดปฏิบัติการทางทหาร



นายอาลีเยฟปฏิเสธข้อเรียกร้องหยุดยิงจากสหรัฐ, รัสเซีย และฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้นำในความพยายามไกล่เกลี่ยยุติความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 และกล่าวในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันจันทร์ว่า การสร้างสันติภาพใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นต้องมีตุรกีเข้ามาร่วมด้วย แน่นอนว่ากระบวนการสันติภาพจะต้องเริ่มต้นขึ้น การปะทะกันไม่สามารถปล่อยให้เดินหน้าต่อไปได้ เพราะฉะนั้น การสร้างสันติภาพโดยเร็ว จะดีกว่า

ด้านนายกรัฐมนตรีนิกอล พาชีนียัน ของอาร์เมเนีย ยังไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะถอนกำลังทหาร โดยในถ้อยแถลงผ่านเฟชบุ๊กเมื่อวันจันทร์ เขาเรียกร้องให้ทหารที่ปลดประจำการไปเมื่อปีที่แล้ว อาสาเข้าร่วมรบในศึกครั้งนี้ด้วย เขาบอกว่า ต้องการเชิญกลุ่มคนเหล่านี้และบอกพวกเขาให้เข้าร่วมทำสงครามเพื่อความอยู่รอดของแผ่นดินแม่

การสู้รบครั้งนี้ เพิ่มความวิตกกังวลระหว่างประเทศว่า มหาอำนาจอื่น ๆ ในภูมิภาคอาจถูกลากเข้าสู่ความขัดแย้ง ซึ่งตุรกีแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับอาเซอร์ไบจาน ขณะที่อาร์เมเนีย ก็มีข้อตกลงด้านการทหารกับรัสเซีย

นายสโตลเทนเบิร์ก กล่าวระหว่างเยือนตุรกี ว่า การใช้กำลังทหารแก้ปัญหาไม่ได้ พร้อมเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายหยุดยิง เช่นเดียวกับสหภาพยุโรป หรืออียู ที่เรียกร้องให้หยุดยิงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ของแคนาดา แถลงเมื่อวันจันทร์ว่า เขาขอให้รัฐมนตรีต่างประเทศแคนาดาเดินทางไปยังยุโรปเพื่อประชุมร่วมกับชาติพันธมิตรหารือพัฒนาการในนากอร์โน-คาราบัค ขณะที่ สตีเฟ่น เบกุน รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐ หารือแยกกันกับรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซอร์ไบจาน และอาร์เมเนีย เขาเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายตกลงหยุดยิงกันทันที และรื้อฟื้นการเจรจา



สหรัฐ, รัสเซียและฝรั่งเศส ประธานร่วมภายใต้หน่วยงานขององค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป หรือโอเอสซีอี ในการไกล่เกลี่ยวิกฤตครั้งนี้ ซึ่งทั้ง 3 ประเทศต่างประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งในและรอบนากอร์โน-คาราบัค และเรียกร้องให้หยุดยิง โดยเมื่อวันจันทร์ นากอร์โน-คาราบัค แถลงว่า กองทัพอาเซอร์ไบจาน ยิงจรวดโจมตีเขตสเตปานาเกิร์ต ซึ่งคณะผู้บริหารของอาร์เมเนียในดินแดนพิพาทแห่งนี้ พิจารณาว่า เป็นเมืองหลวงของนากอร์โน-คาราบัค ขณะที่ อาเซอร์ไบจาน ก็ระบุว่า อาร์เมเนียยิงขีปนาวุธถล่มหลายเมืองนอกดินแดนพิพาท

เจ้าหน้าที่ในนากอร์โน-คาราบัค กล่าวว่า มีทหารเสียชีวิตเพิ่มอีก 21 นาย ทำให้ตัวเลขรวมทหารเสียชีวิต 223 นายตั้งแต่เริ่มต้นการสู้รบ และยังมีพลเรือนเสียชีวิตด้วย 19 ราย ส่วนสำนักงานอัยการของอาเซอร์ไบจาน ระบุว่า มีพลเรือน 25 รายเสียชวิต และบาดเจ็บ 127 รายตั้งแต่เริ่มการสู้รบ แต่อาเซอร์ไบจานไม่ได้ให้รายละเอียดตัวเลขความสูญเสียของทหาร

อาเซอร์ไบจาน แถลงว่า กองทัพกุมความได้เปรียบ และประธานาธิบดีอาลีเยฟ บอกว่า กองทัพของเขาปลดปล่อยหมู่บ้านหลายแห่งและที่ราบสูงในเขตจาบราอิล ในนากอร์โน-คาราบัค ขณะที่ โฆษกของนากอร์โน-คาราบัค กล่าวว่า กองทัพของนากอร์โน-คาราบัค ล่าถอยด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์ เพื่อลดความสูญเสีย และทำให้เกิดความเสียหายต่อกองทัพอาเซอร์ไบจานมากขึ้น การรุกคืบของกองทัพอาเซอร์ไบจาน ก็ถูกสกัดเช่นกัน



การปะทะกันครั้งนี้ ถือว่าเลวร้ายที่สุดตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตแล้วประมาณ 30,000 คน และลุกลามออกนอกดินแดนนากอร์โน-คาราบัคแล้ว