"จาตุรนต์" เตือนนายกฯอย่าส่งเสริม ส.ว. ค้านการแก้ รธน.

2020-10-05 20:20:19

"จาตุรนต์" เตือนนายกฯอย่าส่งเสริม  ส.ว. ค้านการแก้ รธน.

Advertisement

"จาตุรนต์" เตือนนายกฯอย่าส่งเสริม  ส.ว. คัดค้านการแก้ไข รธน. ระวังเกิดวิกฤต

เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงเดือน ต.ค.นี้ ว่า ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญและกติกาในขณะนี้ ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถปรับตัวได้ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญรวมถึงเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่ถ้าหากจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ก็ยังติดปัญหาอยู่ที่รัฐธรรมนูญ เพราะปัจจุบันยังใช้อำนาจของส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ยังเป็นจุดวนเวียนของวิกฤตที่ไม่มีทางออก ซึ่งบทบาทสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ที่ ส.ว.เพราะวิกฤตคือรัฐธรรมนูญที่สร้างรัฐบาลที่มีปัญหา แล้วรัฐธรรมนูญยังป้องกันตัวเองไม่ให้ใครมาแก้ หรือแก้ได้ยากตรงนี้ก็เลยเป็นวิกฤตสำคัญ ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังมายื้อต่อด้วยการตั้งคณะกรรมาธิการฯ ของรัฐสภา เพื่อพิจารณา 6 ญัตติ ทำให้หลายฝ่ายต้องกลับมามองการแก้รัฐธรรมนูญด้วยความสนใจว่าจะต้องแก้ให้ได้ และบังเอิญมาเข้าสู่ช่วงจังหวะในเดือนต.ค.ที่กำลังมีความเคลื่อนไหวให้แก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าฝ่ายต่างๆ จะมีความคิดเห็นว่าอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา และฝ่ายรัฐบาลจะใช้สันติวิธีได้มากน้อยแค่ไหน หรือฝ่ายรัฐจะใช้วิธีคุกคาม ถ่วงเวลา ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงขอเรียกร้องไปถึงพรรคร่วมรัฐบาล เพราะรัฐบาลมีท่าทีที่จะไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็อยากให้พรรคร่วมรัฐบาลต้องตัดสินใจว่าจะสวนกระแสเหล่านี้หรือไม่ เพราะการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลคิดอะไรได้ก็จะได้ช่วยกันลดความตึงเครียด

เมื่อถามว่า ปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญจะซ้ำรอยเหตุการณ์เดือนต.ค. ในอดีดหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าเหตุการณ์ต่างกันมาก คำว่าซ้ำรอย 14 ต.ค. มีได้หลายแง่มุม เพราะในอดีตนักศึกษาเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญจากผู้บริหารบ้านเมือง จนรัฐบาลขณะนั้นตัดสินใจปราบปรามประชาชน นักศึกษา จนกระทั่งรัฐบาลไม่สามารถอยู่ในประเทศต่อได้ ต้องหลบหนีไปต่างประเทศ แล้วจึงเกิดประชาธิปไตยขึ้นส่วนถามว่าจะซ้ำรอยหรือไม่นั้นก็มีมุมที่คล้ายกัน โดยในขณะนั้นนักศึกษาเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญ จากที่ไม่มีรัฐธรรมนูญ แต่ปัจจุบันเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยให้เป็นประชาธิปไตย จึงต้องดูว่าเหตุการณ์ต่อจากนี้ รัฐบาลจะมีการปราบปรามประชาชนหรือไม่ ผู้มีอำนาจจะมีความใจแคบหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ขณะนี้ส่วนจะเหมือนเหตุการณ์ในช่วง 6 ต.ต.หรือไม่นั้น ตนมองว่าเหตุการณ์ 6 ต.ต.เป็นการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ที่ต่อต้านการฟื้นกลับคืนของเผด็จการ และมีการสังหารโหดกลางกรุงเทพฯ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งไม่ได้เกิดจากความผิดอะไรของนักศึกษา เพราะนักศึกษาต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร ไม่มีอะไรมากกว่านั้น ไม่มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือหมิ่นเหม่ในเรื่องใดๆ แต่ถูกใส่ร้าย มีวิธีการสร้างสถานการณ์ขึ้นมาปราบนักศึกษาและทำรัฐประหารในวันเดียวกัน ซึ่งเหตุการณ์จะซ้ำรอยหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจเพียงฝ่ายเดียวไม่ใช่ขึ้นอยู่กับนักศึกษา

เมื่อถามว่า ในการเปิดสมัยประชุม วันที่ 1 พ.ย.นี้ ประเมินการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ก็ขึ้นอยู่กับหลายฝ่าย ที่จะต้องหารือร่วมกัน แต่ที่สำคัญคือต้องขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่ต้องหารือร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว. ส่วนจะมากน้อยแค่ไหน ถ้าปล่อยปละหรือปากว่าตาขยิบ แล้วส่งเสริมให้ ส.ว.คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะไม่เกิดขึ้นและจะกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง กลายเป็นวิกฤตของประเทศไทย รัฐธรรมนูญไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งทางที่ดีตนเห็นว่า เมื่อเปิดสภาแล้วควรรีบประชุมร่วมรัฐสภา และควรรีบรับหลักการในวาระแรก อย่างน้อย 2-3 ญัตติ ในการแก้ไข มาตรา 256 และควรจะแก้มาตรา 272 เป็นบางส่วน ซึ่งเชื่อว่าก็จะทำให้ปลดล็อกในส่วนที่เป็นปัญหามากๆ ทางการเมืองไปได้ แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย มันก็จะเกิดการเมืองในโซเชียลมีเดีย การเมืองในท้องถนน และการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาที่ประชาชนต้องดูว่า จะทำอย่างไรกับรัฐบาลที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับประเทศได้