รายงานผลการศึกษาวิจัยชิ้นใหม่ เกี่ยวกับภัยคุกคามต่อระบบนิเวศวิทยาโลก ระบุว่า การเติบโตอย่างรวดเร็วของประชากรโลก รวมทั้งการขาดแคลนการเข้าถึงอาหารและน้ำ และการเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติมากขึ้น จะทำให้ประชาชนกลายเป็นผู้พลัดถิ่น มากกว่า 1,000 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2593 หรือภายในระยะ 30 ปีข้างหน้า
สถาบันเศรษฐศาสตร์และวันติภาพ หรือ ไออีพี (Institute for Economics and Peace : IEP) องค์กรคลังสมองนานาชาติ ที่ผลิตดัชนีการก่อการร้ายและสันติภาพรายปี อีโคลอจิคอล เทรท รีจิสเตอร์ (Ecological Threat Register) รวบรวมข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ และแหล่งอื่นๆ เพื่อประเมินภัยคุกคาม 8 ด้านต่อระบบนิเวศ และทำนายว่าประเทศและภูมิภาคใด มีความเสี่ยงมากที่สุด
เนื่องจากจำนวนประชากรโลก มีแนวโน้มสูงขึ้น เกือบ 10,000 ล้านคนในปี พ.ศ. 2593 ทำให้การแข่งขันแย่งชิงทรัพยากร และความขัดแย้ง รุนแรงมากขึ้น ผลวิจัยแสดงให้เห็นว่า ประชาชนราว 1,200 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เปราะบาง เช่น เขตซาฮาราแอฟริกา เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง อาจจำเป็นต้องอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน จนถึงปี พ.ศ. 2593
ปัจจัยภัยคุกคามต่อระบบนิเวศ และความขัดแย้ง ทำให้พลเมืองโลกกลายเป็นผู้พลัดถิ่น ประมาณ 30 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2562 นายสตีฟ คิลเลอเลีย ผู้ก่อตั้งไออีพี กล่าวว่า ตัวเลขผู้พลัดถิ่นตามคาดการณ์ จะส่งผลกระทบอย่างมหาศาล ทางสังคมและการเมือง ทั้งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากจะเกิดการไหลบ่าครั้งใหญ่ ของผู้อพยพและผู้ลี้ภัย เข้าสู่กลุ่มประเทศพัฒนามากที่สุดของโลก
นายคิลเลอเลีย กล่าวว่า ปัจจุบันโลกมีน้ำจืดน้อยกว่าเมื่อ 50 ปีก่อน ประมาณ 60 % และคาดว่าความต้องการอาหารจะสูงขึ้น 50 % ในระยะ 30 ปีข้างหน้า จากปัจจัยหลัก การขยายตัวของกลุ่มคนชั้นกลางในทวีปเอเชีย ปัจจัยเหล่านี้บวกกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่มีแนวโน้มเกิดบ่อยครั้งขึ้น จากผลกระทบของภาวะโลกร้อน หมายความว่า แม้แต่กลุ่มประเทศที่มีความมั่นคง จะตกอยู่ในภาวะเปราะบางด้วยเช่นกัน ในปี พ.ศ. 2593.