"ยุทธพงศ์"อภิปรายจีทูจีเรือดำน้ำเก๊หรือไม่

2020-09-10 00:30:59

"ยุทธพงศ์"อภิปรายจีทูจีเรือดำน้ำเก๊หรือไม่

Advertisement

"ยุทธพงศ์"อภิปรายจีทูจีเรือดำน้ำเก๊หรือไม่   ด้าน รมช.กลาโหมยันของจริง

เมื่อวันที่ 9 ก.ย.  ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภา เป็นประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อ ครม. ในเรื่องวิกฤตทางเศรษฐกิจและวิกฤตทางการเมือง โดยไม่มีการลงมติ ตามมาตรา 152

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายตอนหนึ่งว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ มูลค่า 2.25 หมื่นล้านบาท ครม.ขาดความซื่อสัตย์ ปล่อยให้กองทัพเรือไปลงนามจัดซื้อโดยไม่เป็นไปตามรูปแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจีหรือไม่ และการโอนเงินก็ไม่ได้โอนจากรัฐบาลไทย แต่กองทัพเรือเป็นผู้โอนเงินไปให้ใช่หรือไม่ นอกจากนี้ หนังสือรับมอบอำนาจฉบับเต็มทั้งของฝั่งไทยและจีนนั้นก็ไม่เคยนำมาแสดง จึงสงสัยว่าจะเป็นจีทูจีเก๊หรือไม่ ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าวยังมาเปิดบริษัทที่ประเทศไทย ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ประกอบกิจการโรงหล่อโลหะ แล้วอย่างนี้จะเป็นจีทูจีจริงได้อย่างไร

ด้าน พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ชี้แจงว่า การจัดหาเรือดำน้ำเป็นการจัดหายุทโธปกรณ์แบบรัฐต่อรัฐ โดยยกเว้นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วย การพัสดุ ซึ่งในการดำเนินการ ระยะที่ 1 เป็นการดำเนินแบบรัฐต่อรัฐและผ่านการพิจารณาด้านกฎหมายทั้งกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด คณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงบประมาณ ส่วนสาเหตุที่เมื่อเป็นแบบรัฐต่อรัฐเหตุใดไม่เอาเรื่องเข้ารัฐสภา เนื่องจากไม่ได้เป็นหนังสือสัญญาระหว่างประเทศตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 แต่เป็นสัญญาซื้อขายเชิงพาณิชย์ระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นเกี่ยวกับความเป็นหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ว่า ในกรณีนี้เป็นร่างข้อตกลงระหว่างเป็นการซื้อขายเชิงพาณิชย์ จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 เมื่อต้องด้วยรัฐธรรมนูญ จึงไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาหรือขอหนังสือมอบอำนาจเต็ม(Full Power) สรุปกองทัพเรือจึงดำเนินการได้


พล.อ.ชัยชาญ ชี้แจงอีกว่า ประเด็นที่ว่าทำไมผู้ลงนามฝ่ายไทยเป็นเสนาธิการทหารเรือ แต่ฝ่ายจีนเป็นผู้แทน บริษัท China Shipbuilding & Offshore International (CSOC) และเหตุใดทำไมถึงจ่ายเงินให้กับบริษัทเอกชนทั้งที่เป็นการซื้อจากรัฐบาลจีน ขอชี้แจงว่า ในส่วนของรัฐบาลไทยนั้น ครม.ได้มอบหมายให้ ผบ.ทร.เป็นผู้ลงนาม และได้มีการมอบให้เสนาธิการทหารเรือเป็นผู้ลงนาม ขณะที่รัฐบาลจีนได้มอบอำนาจให้องค์การบริหารงานของรัฐด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ หรือ The State Administration for Science, Technology and Industry for National Defense (SASTIND) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับรัฐบาลจีนและเป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งได้มอบอำนาจให้ CSOC ที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยในหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทของ CSOC โดยมีการระบุคำว่า State-owned ที่ย้ำถึงความเป็นรัฐวิสาหกิจส่วนเรื่องการจ่ายเงินให้กับ CSOC นั้น เป็นเพราะ SASTIND ได้มอบอำนาจเต็มให้กับ CSOC