“นิพนธ์” จับมือ ส.ว. ยกระดับกฎหมายแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ลั่นยึดกรอบปฏิญญาสต็อกโฮล์มให้ “ท้องที่- ท้องถิ่น” มีส่วนร่วมลดความสูญเสีย ตั้งเป้า 10 ปีข้างหน้า คนตายบนท้องถนนต้องไม่เกิน 10,000 รายต่อปี
เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เป็นประธานมอบนโยบายในการลงพื้นที่เพื่อติดตามบูรณาการการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการศึกษาและเสนอแนะแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน วุฒิสภา นำโดย นพ.ทวีวงษ์ จุลกมนตรี ประธานคณะอนุกรรมการศึกษาเสนอแนะแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน วุฒิสภา(ส.ว.) นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมด้วย
นายนิพนธ์ กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนถือเป็นภัยคุกคามที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่สร้างความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยแต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนกว่า 22,000 คน หากรวมยอดสะสม15 ปี ยอดสูญเสียมากถึง 300,000 คน รัฐบาลจึงได้ให้ความสำคัญกับการลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนนบูรณาการทุกภาคส่วนดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้นต่อเนื่องในทุกระดับ ภายใต้วาระ 2030 แผนระดับประเทศโดยเฉพาะ “กรอบปฏิญญาสตอกโฮล์ม และเป้าหมายโลกในการกำหนดยุทธศาสตร์ความเสี่ยงหลัก ได้แก่ ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด การดื่มสุราแล้วขับ และการขับขี่รถจักรยานยนต์ เพื่อให้อัตราการตายบนท้องถนนทยอยลดลงอย่างต่อเนื่อง และในปี พ.ศ.2573 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า อัตราการตายบนท้องถนนที่ทุกปีมียอดเฉลี่ย 2 หมื่นกว่ารายนั้น ให้มีอัตราการตายไม่เกิน 10,000 ราย ต่อปี โดยให้มีแผนปฏิบัติการและกำหนดตัวชี้วัดด้านความปลอดภัยทางถนนสอดคล้องกับการดำเนินการงานในเชิงบูรณาการโดยใช้กลไกตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน พ.ศ. 2554 (ศปถ.จังหวัด /ศปถ.อำเภอ ศปถ.อปท) บูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัคร มูลนิธิ จิตอาสา และประชาชน ในการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ให้ความสำคัญกับการใช้ชุมชนเป็นฐานในการจัดการ ปัญหาอุบัติเหตุ และสนับสนุนให้ "ท้องที่และท้องถิ่น" ดำเนินการสำรวจ วิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ปัญหาในพื้นที่ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุง ซ่อมแซม ก่อสร้าง แก้ไขจุดเสี่ยง จุดอันตรายในถนนชุมชนและท้องถิ่นให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย พร้อมทั้งส่งเสริมความปลอดภัยทางถนนในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยสร้างการเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนนในทุกช่วงชั้นทั้งในและนอกระบบ ตลอดจนส่งเสริมให้มีการเดินทางมาโรงเรียนอย่างปลอดภัย และส่งเสริมทักษะในการขับขี่ที่ปลอดภัย การใช้อุปกรณ์นิรภัย (หมวกนิรภัย เข็มขัดนิรภัย) เป็นต้น
นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า รวมถึงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างจริงจัง ต่อเนื่อง ปรับรูปแบบการสื่อสารข้อมูลต่อสาธารณะให้มีความเข้มข้น มีเนื้อหาที่เข้าใจง่าย และใช้ช่องทางการนำเสนอให้เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย เน้นการสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหา ผลกระทบของอุบัติเหตุทางถนนรวมถึงแนวทางมาตรการในการดำเนินงานของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักและให้ความร่วมมือในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน
"ทั้งนี้ขอขอบคุณคณะอนุกรรมการศึกษาและเสนอแนะแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ที่ให้ความสำคัญในการจัดการปัญหาอุบัติเหตุทางถนนและรับฟังความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินความปลอดภัยทางถนนเพื่อนำไปสู่การผลักดันในเชิงนโยบายต่อไป การดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนนจะบรรลุเป้าหมายในการลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุได้ ต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ แผนงาน และการนำนโยบายไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง ต่อเนื่องให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม" นายนิพนธ์ กล่าว