อยากตั้งครรภ์ในวัย 40+ ต้องทำอย่างไร ?

2020-09-09 19:30:07

อยากตั้งครรภ์ในวัย 40+ ต้องทำอย่างไร ?

Advertisement

อยากตั้งครรภ์ในวัย 40+ ต้องทำอย่างไร ?

ช่วงอายุที่เหมาะสมจะมีลูก

ช่วงอายุที่เหมาะสมจะมีลูกอยู่ในช่วง 20-35 ปี เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายแข็งแรงเหมาะสำหรับการมีลูก แต่ถ้าผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป จะจัดอยู่ในกลุ่มของผู้หญิงที่มีความเสี่ยงในการตั้งครรภ์

ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายหากตั้งครรภ์ในวัย 40+

ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ

-สุขภาพของคุณแม่ เนื่องจากพออายุมากขึ้น โอกาสและความเสี่ยงที่จะเป็นโรคก็มากขึ้นตามไปด้วย เช่น โรคความดันเลือดสูง โรคเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคที่พบเจอได้บ่อยในคนวัย 40+

-ความแข็งแรงของทารกในครรภ์ ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายตามมา เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ เบาหวานขณะตั้งครรภ์และเมื่อคุณแม่อายุมากขึ้น การฝังตัวของรกเสื่อมสภาพลง อาจทำให้เด็กตัวเล็กกว่าปกติ มีโอกาสคลอดก่อนกำหนด รวมถึงมีโอกาสที่จะเป็นดาวน์ซินโดรมมากกว่าเด็กที่คลอดจากแม่อายุน้อย ๆ

วิธีตั้งครรภ์โดยธรรมชาติของคนวัย 40+

เบื้องต้นต้องพิจารณาก่อนว่าปัจจัยของคนที่สามารถตั้งครรภ์ด้วยวิธีธรรมชาติได้นั้นมีอะไรบ้าง โดยจะแบ่งเป็นปัจจัยที่มาจากทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย เช่น ฝ่ายหญิงต้องมีรังไข่หรือเซลล์ไข่จะต้องมีปริมาณมากพอและมีคุณภาพ มดลูกและท่อรังไข่จะต้องไม่มีเนื้องอกหรือก้อนอะไรมาบดบัง ท่อรังไข่ไม่ตัน สามารถนำพาอสุจิ ไข่ และตัวอ่อน ให้เดินทางไปมาได้ ส่วนฝ่ายชายนั้นต้องมีอสุจิที่ความแข็งแรง สมบูรณ์ และมีปริมาณมากพอ เนื่องจากปัจจัยที่มาจากฝ่ายชายนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมากที่จะทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ ดังนั้นหากอายุเข้าเลขสี่แล้วอยากมีลูก ฝ่ายหญิงและฝ่ายชายควรเตรียมความพร้อมร่างกายให้ดี ลดการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ให้น้อยลงจะช่วยให้มีโอกาสตั้งครรภ์ในวัย 40+ มากยิ่งขึ้น

แต่ถึงแม้จะไม่สามารถตั้งครรภ์โดยธรรมชาติได้สำเร็จ ปัจจุบันก็มีวิวัฒนาการทางการแพทย์มากมายที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ เพียงแค่เข้ามาปรึกษาแพทย์เพื่อแก้ไขจุดที่บกพร่องการมีลูกก็ไม่ยากอย่างที่คิด ดังนั้นอายุจึงเป็นเพียงปัจจัยแค่ปัจจัยหนึ่งเท่านั้น เพราะการมีลูกหรือการสร้างครอบครัวยังมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น ความพร้อมของคุณพ่อคุณแม่ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญมากกว่าช่วงอายุที่หลายคนกังวล เพระหากมีลูกตอนอายุยังน้อยไม่มีวุฒิภาวะที่พร้อมจะดูแลใคร อาจทำให้เกิดผลเสียต่อลูกได้

อ.นพ.วีรภัทร  สมชิต และ อ. พญ.ชนัญญา ตันติธรรม

สาขาวิชาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล