แห่ผีสุ่มประเพณีบุญเดือนสิบชัยภูมิ

2020-09-04 19:50:58

แห่ผีสุ่มประเพณีบุญเดือนสิบชัยภูมิ

Advertisement

ชาวบ้านเสี้ยวน้อย จ.ชัยภูมิ ร่วมกันแห่ "ผีสุ่ม ขอกินข้าวสาก" ประเพณีบุญเดือนสิบที่สืบทอดกันมาเป็นเวลานาน 


เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านเสี้ยวน้อย ต.บ้านเล่า อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ร่วมกันจัดงานประเพณี ผีสุ่มขอข้าวสาก ที่เป็นประเพณียุญเดือนสิบที่สืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน โดยจัดงานที่บริเวณวัดสมศรี มีชาวบ้านและนักท่องเที่ยว เดินทางมาร่วมงาน และร่วมกิจกรรมกันเป็นจำนวนมาก 

นางมาลา วรรณพงษ์ หัวหน้ากลุ่มทอผ้าย้อมสีจากธรรมชาติ บ้านเสี้ยวน้อย เล่าว่า ประเพณีแห่ผีสุ่ม ขอข้าวสากนี้ ตนมองว่าเป็นเรื่องปกติที่ชาวบ้านทำสืบทอดกันมา ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย เมื่อถึงเดือนสิบ ซึ่งเป็นวันทำบุญข้าวสาก หรือสากลาว โดยหลังจากที่ชาวบ้านนำข้าวสากไปวางตามคันนา ก็จะกลับมาทำพิธีแห่ผีสุ่ม รอบหมู่บ้านโดยมีการนำวัสดุที่อยู่ใกล้มือ นำมาเป็นอุปกรณ์ในการเคาะตี ให้เกิดจังหวะแล้วร่วมกันเต้นรำ 


ในส่วนความเชื่อนั้น นางมาลา เล่าต่อว่า ชาวบ้านมีความเชื่อว่า เมื่อถึงเดือนสิบ ที่มีการทำบุญข้าวสาก นั้น พยายมหรือยมบาล เจ้าผู้ครอบครองนรก จะทำการปลดปล่อยผี จากยมโลกให้ขึ้นมารับส่วนบุญ จากญาติพี่น้องบนโลกมนุษย์ โดยมีกำหนดเวลาเพียง1วันเท่านั้น โดยข้าวของที่ญาติๆของผีจะนำมาวางไว้ตามที่ต่างๆ โดยข้าวของที่นำมาวางไว้นั้น ทางญาติๆจะแจ้งให้พระแม่ธรณีทราบไว้แล้วว่าเป็นของผีตนใด เมื่อผีมาถึงก็จะมารับและรีบกลับยมโลกต่อไป ส่วนผีตนใดที่ไม่มีญาติๆนำข้าวของมาฝากไว้ ก็จะไม่สามารถรับของคนอื่นได้ นอกจากผีเจ้าของ อนุญาต ดังนั้นจะมีผีไร้ญาติอีกจำนวนหนึ่งที่ ต้องขอบริจาคข้าวของจากเพื่อนผีๆ แต่ด้วยความอับอาย จึงนำสุ่ม มาครอบหัว และตัว เพื่อไม่ให้ผีตนใดเห็นหน้า และร่วมสนุกสนานกับเพื่อนผี พร้อมรีบเดินทางกลับยมโลกก่อนฟ้าสาง 


นางมาลา เล่าว่า ตนมองว่าเป็นกุศโลบาย ของผู้เฒ่าผู้แก่ ที่อยากให้คนในชุมชน ได้ร่วมกันทำบุญเผื่อแผ่ แบ่งปันให้กับคนรอบข้าง โดยเฉพาะเมื่อถึงฤดูกาลวางข้าวสาก ลูกหลานที่ไปทำงานต่างจังหวัด ก็จะเดินทางกลับมาร่วมงาน ซึ่งถือเป็นการรวมญาติอีกครั้ง 

อย่างไรก็ตามประเพณีแห่ผีสุ่มนี้ ชาวบ้านได้กระทำต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน จนนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเดินทางมาร่วมงานเพื่อชมขบวนแห่ผีสุ่ม ที่แปลกตา จังหวัดจึงได้บรรจุประเพณีนี้ เป็นปฏิทินท่องเที่ยวของจังหวัดเป็นปีแรก เพื่อเป็นการรักษาวัฒนธรรมพื้นบ้านให้สืบทอด ถึงอนุชนรุ่นหลัง และเป็นการโปรโมทแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดต่อไป