หั่นศพ 18 ชิ้น ย้อนคดีสยอง "โมนา แฟนดีย์" ฆ่านักการเมือง เกี่ยวเนื่องพิธีกรรมไสยศาสตร์

2020-09-03 11:25:44

หั่นศพ 18 ชิ้น ย้อนคดีสยอง "โมนา แฟนดีย์" ฆ่านักการเมือง เกี่ยวเนื่องพิธีกรรมไสยศาสตร์

Advertisement

ย้อนคดีสยองขวัญ !! นักร้องหญิงชาวมาเลย์ฝักไฝ่ไสยศาสตร์ ฆ่าหั่นศพ 18 ชิ้น ชิงเงินมหาศาลนักการเมืองคนดัง ขณะประกอบพิธีกรรมมนต์ดำ



Datuk Mazlan Idris นักการเมืองผู้โชคร้ายที่ถูกฆ่าและหั่นแยกชิ้นส่วนสุดสยอง





โมนา แฟนดีย์ (Mona Fandey) นักฆ่าหน้ายิ้มไร้สีหน้าสลดที่ลงมือฆาตกรรมนักการเมืองคนดังอย่างเลือดเย็น



จากกรณีที่ภาพยนตร์เรื่อง Dukun ที่สร้างจากเรื่องจริงคดีดังที่สั่นประสาทผู้คนในอดีต จนเกิดเป็นประเด็นอ่อนไหวและถูกสั่งห้ามฉายมานานถึง 11 ปี ที่พูดถึงนักร้องหญิงคนหนึ่งกับการฆาตกรรมที่ใครๆ ต้องหวาดกลัวเมื่อรู้ว่า สิ่งที่เธอและพรรคพวกได้กระทำลงไปนั้น มีเรื่องของไสยศาสตร์มนต์ดำมาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งปัจจุบันภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ถูกระงับการฉายไปนานแล้วนั้น ได้รับอนุญาตให้ฉายและเป็นที่พูดถึงของผู้เข้าชมชาวมาเลเซีย พร้อมกับความสำเร็จที่มากมายเกินคาดเดา


ภาพประกอบบางส่วนจากภาพยนตร์

ภายใต้ใบหน้าที่ยิ้มแย้มไร้ความสลด ไม่มีแม้กระทั่งความวิตกกังวลใดๆ ในการกระทำ หลังจากความมืดดำบังตา สิ่งที่เรียกว่า "ความโลภ" เข้าครอบงำ จนกลายเป็นคดีฆาตกรรมสุดสยองยากยิ่งเกินพรรณนา ... "โมนา แฟนดีย์" (Mona Fandey) มีชื่อเดิมว่า มัซนะฮ์ อิสมาอิล เธอเป็นที่รู้จักดีในฐานะอดีตนักร้องเพลงป๊อปที่มีชื่อเสียง แต่ผันตัวมาเป็นแม่มดหมอผี โดยใช้คาถาเยียวยารักษาโรค จากคดีฆาตกรรมนักการเมืองชื่อดังของพรรคอัมโน (UMNO หรือ United Malays National Organisation) เธอถูกจัดให้อยู่อันดับที่สามในห้าอันดับอาชญากรที่เป็นจอมวายร้าย ทำให้เธอกลายเป็นฆาตกรหญิงที่มีชื่อเสียงฉาวโฉ่อันดับต้นๆ ของมาเลเซีย





"โมนา แฟนดีย์" เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 1956 เธอคือนักร้องเพลงป๊อปที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง เธอพยายามทุกอย่าง เพื่อที่จะเพิ่มภาพลักษณ์ของเธอ เช่น การสวมเสื้อผ้าสีฉูดฉาดขึ้นโชว์บนเวที เป็นต้น แต่หลังจากหมดสัญญาลงกลับไม่มีใครอยากให้เธอต่อสัญญา เธอจึงหันมาผลิตและเปิดตัวอัลบั้มใหม่ของเธอเอง ชื่อว่า "ไดอาน่า" แต่กระนั้นอัลบั้มของเธอที่ผลิตออกมาอาจจะไม่ตอบโจทย์กลุ่มผู้ฟังเท่าที่ควร ทำให้เส้นทางในวงการบันเทิงของเธอต้องสิ้นสุดลง



"โมนา แฟนดีย์" และสามีของเธอ เอฟเฟนดี ต่างรู้สึกเหมือนกันว่าพวกเขาจำเป็นต้องเปลี่ยนอาชีพ พวกเขาตัดสินใจก้าวเดินสู่เส้นทางสีดำ ทำให้ชีวิตของพวกเขากลายเป็นหมอผีที่ใช้ไสยศาสตร์ในการหาเลี้ยงชีพ อย่างไรก็ตาม เส้นทางนี้ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จไม่น้อย เนื่องจากพวกเขาสามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่มีฐานะร่ำรวย รวมถึงนักการเมืองหลายรายมาเป็นกลุ่มลูกค้าหลักได้ ผ่านการจำหน่ายเครื่องรางของขลังและการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ในเวลาต่อมาพวกเขาสามารถซื้อคฤหาสน์และรถราคาแพงได้อีกหลายคัน






โมนากลายเป็นที่รู้จักในชั่วข้ามคืน จากคดีฆาตกรรม ดาตุก มัซลัน ไอดริส (Datuk Mazlan Idris) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคอัมโน เขตบาตู ตาลาม ในรัฐปะหัง มัซลันเป็นนักการเมืองที่ค่อนข้างทะเยอทะยาน เขาจบการศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกา เขาต้องการที่จะเพิ่มความเจริญรุ่งเรืองให้แก่หน้าที่การงาน โดยเฉพาะตำแหน่งทางการเมือง จึงมาขอความช่วยเหลือจากโมนา ทั้งโมนาและเอฟเฟนดีสามีของเธอสัญญาว่าจะช่วยมัซลัน โดยจำหน่ายแผ่นยันต์ให้แก่เขา ในราคา 2.5 ล้านริงกิต ซึ่งจะต้องจ่ายเงินมัดจำประมาณ 500,000 ริงกิต เธอใช้โฆษณาชวนเชื่อว่ามันจะทำให้อยู่ยงคงกระพัน ทำให้สองสามีภรรยาได้รับโฉนดที่ดินสิบแผ่นมาเป็นหลักประกัน





ในวันที่เกิดเหตุฆาตกรรม มัซลันมาประกอบพิธีกรรมเสริมโชคลาภที่บ้านของโมนา เธอให้เขานอนราบลงบนพื้นและวางดอกไม้ลงบนตัวเขา จากนั้นก็บอกให้เขาหลับตาเพื่อรอรับเงินที่จะตกลงมาจากฟ้า ทันทีที่เขาหลับตาลง จูไรมี ผู้ช่วยคนสนิทของโมนาก็ใช้ขวานสับหัวมัซลันจนขาด ตามด้วยการแล่ชิ้นส่วนต่างๆ ของร่างกายออกจากกัน และนำชิ้นส่วนศพไปฝังในห้องเก็บของใกล้บ้านของโมนา



มีรายงานว่า ดาตุก มัซลัน หายตัวไปเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 1993 หลังจากถอนเงินจำนวน 300,000 ริงกิตออกจากธนาคาร น่าประหลาดใจที่การหายตัวไปของมัซลันในช่วงแรก กลับไม่มีใครสงสัยอะไร แม้กระทั่งภรรยาเขาเอง หลังจากที่เกิดการฆาตกรรมโมนาใช้เงินในการจับจ่ายซื้อของอย่างสนุกสนาน เธอซื้อเมอซิเดสเบนซ์หนึ่งคัน มีการสันนิษฐานว่าการฆาตกรรมเกิดขึ้นในช่วงสีทุ่มถึงเที่ยงคืน การสืบสวนยังคงดำเนินต่อไป



จนกระทั่งวันที่ 22 กรกฎาคม 1993 ตำรวจพบศพของมัซลันที่ห้องเก็บของใกล้บ้านโมนา ร่างของเขาถูกขุดพบทั้งสิ้น 18 ส่วน โมนาและเอฟเฟนดีสามีของเธอ รวมถึงจูไรมีผู้ช่วยคนสนิทถูกจับกุมตัว กลายเป็นข่าวฆาตกรรมสะเทือนขวัญที่โด่งดังบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ ศาลสูงสุดนำโดยคณะลูกขุนเจ็ดคน (การพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุนถูกยกเลิกไปตั้งแต่ 1 มกราคม 1995) พบว่าพวกเขาทั้งสามคนมีความผิด จึงตัดสินให้ทั้งสามคนได้รับโทษประหารชีวิตโดยการแขวนคอ แต่ทั้งสามยังไม่ยอมแพ้ พวกเขาตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ต่อศาลของรัฐบาลกลาง



ต่อมาในปี 1999 ศาลยกฟ้องอุทธรณ์ของพวกเขาและยังคงยึดถือโทษประหารชีวิต ในที่สุดสามนักโทษพยายามที่ขออภัยโทษหรือการผ่อนผันโทษ โอกาสสุดท้ายของพวกเขาสิ้นสุดลง เพราะมีการปฏิเสธที่จะลดโทษให้ทั้งสามคน ตลอดช่วงเวลาที่ได้รับโทษหรือเผชิญหน้ากับนักข่าว โมนามีพฤติกรรมประหลาด เธอจะแต่งกายสีสันสดใสและยิ้มอยู่เสมอ บางครั้งเธอก็พูดกับนักข่าวว่า “ฉันมีความสุขดี” และ “ฉันจะไม่ตาย” เคเอฟซีเป็นอาหารมื้อสุดท้ายของทั้งสามคน ก่อนจะถูกแขวนคอในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2001 ที่เรือนจำ



เรื่องราวของโมนา แฟนดีย์ นักร้องที่ผันตัวมาเป็นอาชญากร ได้แสดงให้เห็นเส้นทางชีวิตที่มักจะชักนำใครหลายคนให้ก้าวเข้าสู่เส้นทางอันมืดมิด ทั้งยังสะท้อนให้เห็นความเชื่อทางด้านไสยศาสตร์ของคนมลายู ที่ยังคงฝังรากลึก ไม่เว้นแม้กระทั่งคนร่ำรวย หรือนักการเมือง





ขอบคุณที่มา https://en.m.wikipedia.org/wiki/Mona_Fandey