"ดิศปนัดดา" เผย 5 สาเหตุปัญหา PM 2.5

2020-09-03 10:35:50

"ดิศปนัดดา" เผย 5 สาเหตุปัญหา PM 2.5

Advertisement

"ม.ล.ดิศปนัดดา" เผยแนวทางแก้ฝุ่น PM 2.5 หลังพบ 5 สาเหตุของปัญหา เน้นบังคับใช้กฎหมาย หนุนใช้ NGV  ตั้งศูนย์จัดการการเผาและตลาดซื้อขายคาร์บอน

เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) อย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฏร กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 เป็นปัญหาสำคัญและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน คณะกมธ. ได้ทำการศึกษาปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างละเอียด พบว่าสาเหตุและแหล่งที่มาของฝุ่นครอบคลุม 5 ภาคส่วน ได้แก่ 1.ภาคคมนาคม จากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของยานยนต์ มีปัจจัยสำคัญ คือ มาตรฐานคุณภาพยานยนต์และเชื้อเพลิง 2.ภาคอุตสาหกรรม จากการปล่อยมลพิษทางปล่องระบาย ซึ่งขาดการเก็บข้อมูล การตรวจวัด และการรายงานผล 3.การเผาในที่โล่ง จากการเผาเศษเหลือใช้ทางเกษตร เนื่องจากขาดแรงงาน ต้นทุนและมาตรการสนับสนุนการทำการเกษตรที่ไม่ต้องเผา 4.ไฟป่า จากการหาของป่าล่าสัตว์และเผาไร่ เป็นต้น อีกทั้งยังขาดระบบแจ้งเตือนไฟป่าที่ทันต่อเหตุการณ์ และความมีส่วนร่วมในการป้องกันรับมือไฟป่าระหว่างเจ้าหน้าที่และชุมชน และ 5.หมอกควันข้ามแดน จากฝุ่นที่ถูกพัดโดยกระแสลมมาจากประเทศใกล้เคียง

ม.ล.ดิศปนัดดา ระบุว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือฝุ่นละออง ไม่สามารถแก้ไขได้อย่างครบถ้วนและยั่งยืนด้วยเพียงมาตรการระยะสั้นเพียงอย่างเดียว กมธ.จึงได้ทำการศึกษาจัดทำแนวทางการในการแก้ไขปัญหาอย่างครอบคลุมในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยมุ่งเน้นที่การบังคับใช้กฎหมาย การสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิง NGV ที่มีมลพิษต่ำกว่าดีเซล และการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจรในภาคคมนาคม การขยายผลโครงการนำร่อง PRTRในวงกว้างเพื่อวางแผนการจัดการมลพิษในภาคอุตสาหกรรม การตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจัดการการเผาเพื่อวิเคราะห์ข้อมูล การส่งเสริมการใช้ประโยชน์และเครื่องจักรในการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อแก้ปัญหาการเผาในที่โล่ง กำหนดพื้นที่และสิทธิการใช้ประโยชน์ของชุมชนที่ชัดเจน ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่า รวมถึงตรากฎหมายสิ่งแวดล้อมและกฎหมายจัดตั้งตลาดการซื้อขายคาร์บอนเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นจากไฟป่าอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ทาง กมธ.เห็นว่า เมื่อประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาฝุ่นควันได้แล้ว ก็สามารถนำแนวทางไปเผยแพร่และส่งเสริมให้กับประเทศอื่นๆ ผ่านความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาค และนานาชาติต่อไป กมธ.อยากเน้นย้ำว่าสิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักคือทรัพยากรธรรมชาติไม่ใช่ของฟรี มีต้นทุนในการใช้งานที่เราอาจไม่ได้จ่ายในลักษณะตัวเงิน แต่เป็นเรื่องของคุณภาพชีวิต สุขภาพและอนาคต ดังนั้นเราทุกคนต้องพึงตระหนักเสมอว่าเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะส่งมอบทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณภาพเทียบเท่าหรือดีกว่าให้กับคนรุ่นหลังต่อไป