ทีมเศรษฐกิจทันสมัย ปชป.ช่วยชาวสวนมังคุด

2020-09-02 16:00:57

ทีมเศรษฐกิจทันสมัย ปชป.ช่วยชาวสวนมังคุด

Advertisement

ทีมเศรษฐกิจทันสมัย นำผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เจอชาวสวนมังคุดนครศรีธรรมราช ผสานความร่วมมือ สานต่อนโยบาย รมว.พาณิชย์ หลังไปรษณีย์ไทยเอ็มโอยูกับชาวสวน

เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)นำโดยนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย และประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร (Agribusiness) ที่ทำงานเชื่อมโยงระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ และนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์และคณะที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ ได้ลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อสานต่อนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนมังคุด  จ.นครศรีธรรมราช ที่กำลังประสบปัญหาผลผลิตออกมามากและส่งผลกระทบถึงราคารับซื้อที่หน้าสวน


นายปริญญ์ กล่าวว่า ก่อนหน้าที่ตนและทีมเศรษฐกิจทันสมัยจะลงพื้นที่ ได้มีการลงนามความร่วมมือ (MOU) นำร่องระหว่างกลุ่มเกษตรกรใน 3 อําเภอ ของ จ.นครศรีธรรมราชคือ ลานสกา ร่อนพิบูลย์ พรหมคีรี กับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (มหาชน) ที่จะได้รับการสนับสนุนค่าขนส่งฟรี จากไปรษณีย์ไทย เมื่อใช้กล่องของกรมการค้าภายใน โดยการสนับสนุนจากนายจุรินทร์ ในการบริหารจัดการด้านการตลาดเพื่อรองรับผลไม้และช่วยเหลือชาวสวนมังคุดของกระทรวงพาณิชย์ ในช่วงที่ผลผลิตออกมามาก โดยในเบื้องต้นได้ลงนามความร่วมมือกับเกษตรกรแปลงใหญ่ที่รวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อสะดวกในการบริหารจัดการรวมถึงการจัดส่ง ยกตัวอย่างเช่น แปลงใหญ่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาคุณภาพไม้ผลร่อนพิบูลย์ กลุ่มชาวสวนมังคุดลานสกา กลุ่มแปลงใหญ่ ต.ทอนหงส์ อ.พรหมคีรี สหกรณ์การเกษตรพรหมคีรี เป็นต้น ภายใต้การประสานจาก นายชัยชนะ เดชเดโช และ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ส.ส.นครศรีธรรมราช


นายปริญญ์ ระบุว่าปีที่ผ่านมาทีมเศรษฐกิจทันสมัยได้มีการนำอีคอมเมิร์ซมาเป็นเครื่องมือในการทำแคมเปญประชาสัมพันธ์ผลไม้มังคุดผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะการจัดส่งผ่านเว็บไซต์ “ไทยแลนด์โพสต์มาร์ต ดอท คอม” ที่ได้รับกระแสตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดีและมียอดสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้ในปีนี้เกษตรกรชาวสวนบางรายสามารถใช้ข้อมูลการสั่งซื้อเดิมที่ระบบของไปรษณีย์ไทยเก็บไว้แบบ Bigdata และส่งต่อให้กับชาวสวนนำมาบริหารจัดการ ทำให้มีข้อมูลลูกค้าว่าอยู่ที่ไหน สั่งซื้ออย่างไร สามารถติดต่อซื้อขายได้โดยตรง ช่วยวางแผนการผลิตและการจำหน่ายล่วงหน้าช่วยลดปัญหาผลผลิตออกมาล้นตลาด โดยไม่ต้องรอการช่วยเหลือจากภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว การลงพื้นที่ของทีมยังได้มีโอกาสนำตัวแทนผู้ประกอบการมังคุด ที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ไปร่วมพูดคุยกับตัวแทนเกษตรกรชาวสวนมังคุด คือกลุ่มปรับปรุงคุณภาพมังคุด ม.6 ต.พรหมโลก อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช ทำให้เห็นถึงปัญหาร่วมกัน รวมถึงไปดูการทำงานของล้ง KAF ร่วมกับนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 และพาณิชย์จังหวัด ทำให้เห็นแนวทางแก้ไขอย่างเป็นระบบทั้งซัพพลายเชนเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันให้ชาวสวนรวมตัวกันเป็นกลุ่ม และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการรับซื้อผลผลิตจากชาวสวนโดยการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการสั่งซื้อสินค้าสำหรับผู้ประกอบการไทยรุ่นใหม่ที่เป็นพ่อค้าคนกลาง เพื่อช่วยประหยัดค่าขนส่ง ลดต้นทุน จะทำให้ราคารับซื้อสูงขึ้นได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 5-10 บาท รวมถึงแนวทางในการพัฒนาคุณภาพผลผลิตที่จะช่วยให้ราคาจำหน่ายสูงขึ้น ลดอำนาจต่อรองของพ่อค้าคนกลาง ทำให้แข่งขันได้และสามารถขยายตลาดออกไปได้กว้างขึ้นในต่างประเทศ

นายปริญญ์ กล่าวต่อว่า ภาพรวมสถานการณ์ราคามังคุดปีนี้ดีกว่าปีที่แล้ว จากการวางแผนในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบของทุกภาคส่วน ทั้งนี้ในช่วงที่ผลผลิตออกมามากการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคประเทศก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ทีมฯ จะช่วยในการหาช่องทางระบายสินค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ด้านออนไลน์จะร่วมมือกับบริษัทไปรษณีย์ไทย ในการเข้ามาช่วยรับออเดอร์การสั่งซื้อ รวมทั้งจัดส่งผ่านเว็บไซต์ “ไทยแลนด์โพสต์มาร์ต ดอท คอม” โดยสินค้าพร้อมจัดส่งถึงมือผู้บริโภคด้วยด้วยมาตรฐานบริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) ในประเทศโดยไม่เสียค่าจัดส่งเพื่อเร่งระบายผลผลิตและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนที่ได้รับผลกระทบจากผลผลิตล้นตลาด รวมถึงจะมีภาคีเครือข่ายอื่นเข้ามาร่วมด้วย


“การสร้างดีมานด์ให้กับผู้บริโภคเป็นเรื่องที่สำคัญทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังอยากเห็นเกษตรกรชาวสวนมังคุดให้ความสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์โดยการพัฒนาคุณภาพ หรือการแปรรูป ยกตัวอย่างเช่นเปลือกมังคุด ที่สามารถเอามาทำเครื่องสำอางและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่นได้อีกมาก ทั้งนี้การแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรชาวสวนของทีมเศรษฐกิจทันสมัย หัวใจที่สำคัญคือการนำความทันสมัยมาปรับใช้เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่แตกต่างไปจากเดิม และต้องนำไปสู่ความยั่งยืน พึ่งพิงตนเองได้" นายปริญญ์ กล่าว