พท.จี้รัฐบาลออก พ.ร.ก.ตั้งกองทุนให้เอสเอ็มอี

2020-09-01 23:55:22

พท.จี้รัฐบาลออก พ.ร.ก.ตั้งกองทุนให้เอสเอ็มอี

Advertisement

พท.พร้อมผู้ประกอบการรายย่อยจี้รัฐบาลออก พ.ร.ก.ตั้งกองทุนให้เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ และวิสาหกิจชุมชน เป็นฟันเฟืองกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังเงินกู้ 1 ล้านล้านลงไม่ถึง "สุดารัตน์" ยันทำได้ แต่รัฐบาลต้องเปลี่ยนวิธีคิด

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่พรรคเพื่อไทย (พท.)  ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กลุ่มสตาร์ทอัพ และวิสาหกิจชุมชน นำโดยนายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย หรือ สภาเอสเอ็มอี  เดินทางเข้าพบและหารือกับผู้บริหาร และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย นำโดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย และนายโภคิน พลกุล ประธานกรรมการด้านนโยบายและแผนงาน พรรคเพื่อไทย พร้อมนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ร่วมแถลงข้อเรียกร้องมาตรการการช่วยเหลือ เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ และวิสาหกิจชุมชน

คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยได้มีความกังวลและเป็นห่วงต่อสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน และผู้ประกอบการรายเล็ก จึงได้ประชุมหารือกับผู้ประกอบการรายย่อยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน 3 กลุ่ม ที่จะต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพราะถ้าทิ้งไว้อีกไม่เกิน 2-3 เดือน ธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้คงต้องปิดดตัว และจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน ที่จะมีผู้ตกงานเพิ่มอีกเป็นจำนวนมาก เพราะที่ผ่านมาธุรกิจขนาดเล็กไม่ได้ประโยชน์จาก “เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท” ไม่ว่าจะเป็นเงินเยียวยากระตุ้นเศรษฐกิจจากโควิดจำนวนงาน”4 แสนล้าน" หรือ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 500,000 ล้านบาท ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ที่มีราว 3 ล้านราย ซึ่ง 99 เปอร์เซ็นต์ เป็นรายเล็ก ไม่อยู่ในระบบธนาคาร ไม่สามารถกู้เงินได้ จึงมีปัญหาสภาพคล่อง จากที่ปิดตัวจากพิษโควิด และยอดขายที่ลดลง ซึ่งปัญหาเกิดจากโครงการหรือแผนงานใช้เงินกู้ทั้งหมด ถูกเสนอจากหน่วยงานราชการ โดยผู้ประกอบการไม่มีส่วนร่วม ทำให้ท้ายที่สุด ผู้ประกอบการรายเล็กและหลายย่อยไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของรัฐ เงินกู้ที่รัฐบาลกู้มาจึงไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง เสมือนกู้เงินมาตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ และเชื่อว่าภายใน 2-3 เดือน หากผู้ประกอบการรายย่อยทั้ง 3 กลุ่มไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน จะเจ๊งกันหมด คนจะตกงานเพิ่มอีกจำนวนมาก ซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ตกต่ำ จนอาจกลายเป็นมหาวิกฤตเศรษฐกิจ

คุณหญิงสุดารัตน์ได้สรุปผลหารือกับผู้ประกอบการว่า มีข้อเสนอให้รัฐบาลออกพระราชกำหนด หรือ พ.ร.ก. 5 ฉบับ เพื่อจัดตั้งกองทุน 3 กองทุนคือ 1) กองทุนเอสเอ็มอี 2) กองทุนสตาร์ทอัพ 3) กองทุนวิสาหกิจชุมชน โดยแบ่งเงินกู้จากเงินกู้เยียวยาและฟื้นฟูโควิด-19 จำนวน 400,000 ล้าน มาให้กองทุนทั้ง 3 อย่างน้อย 30%ถึง 40%เพื่อดำเนินการช่วยเหลือเยียวยา และฟื้นฟู ธุรกิจรายย่อยจากทั้ง 3 กลุ่ม ให้ได้ตรงความต้องการของผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนวิธีคิดจากที่รัฐบาลเคยทำ ที่คอยแจกเงินมาเป็นการหยิบยื่นโอกาสในการทำมาหากินให้คนตัวเล็กแทน จะถือเป็นการให้ "เบ็ดตกปลา" แก่ผู้ประกอบการรายเล็ก หลังจากรัฐบาลได้แจกปลาให้ประชาชนผ่านการแจกเงินไปแล้ว ที่สำคัญวิธีนี้จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดและจะทำให้ทั้ง SMEs, Startup และวิสาหกิจชุมชน เป็นฟันเฟืองกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง

นายโภคิน พลกุล ย้ำถึงผู้ประกอบการรายย่อยทั้ง 3 กลุ่ม ที่อยู่นอกระบบธนาคาร เข้าไม่ถึงแหล่งทุน การมีสภาทั้ง 3 ส่วน จะเป็นพื้นที่และให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสรวมตัวกัน คิดและเสนอการดำเนินการ เพราะที่ผ่านมาให้ส่วนราชการคิดโครงการเองโดยไม่ตอบโจทย์กับผู้ประกอบการ

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ยังกล่าวเสริมว่า นอกจากจะแบ่งเงินกู้ 400,000 ล้าน มาให้ผู้ประกอบการโดยตรง เงินกู้ซอฟท์โลน 500,000 ล้าน ก็ควรแบ่งมาให้ทั้ง 3 กองทุน ปล่อยกู้ตรงให้กับผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อยได้ตรง ทำแบบนี้เงินจึงจะถึงผู้ประกอบการ ถ้ายังใช้วิธีผ่านธนาคารพาณิชย์ พวกรายย่อยจะไม่มีทางได้รับการช่วยเหลือ ส่วนการมีกองทุนก็จะเป็นระบบที่แตกต่างจากสถาบันการเงินหรือโครงสร้างธนาคารทั่วไป การตั้งเป็นกองทุนจะมีเงื่อนไขเอื้อต่อการพัฒนาและเติบโตของธุรกิจขนาดเล็กมากกว่า และแนวคิดนี้เป็นการตกผลึกร่วมกันกับผู้ประกอบการทั้ง 3 กลุ่ม นอกจากนี้พรรคเพื่อไทยได้เสนอให้ออก พ.ร.ก.การตั้งสภา SMEs และสภาธุรกิจ Startup ต่อไปด้วย

ด้านนายไชยวัฒน์ กล่าวสนับสนุนการผลักดัน พ.ร.ก. ทั้ง 5 ฉบับ และมองว่า การที่งบประมาณของภาครัฐลงไปไม่ถึงผู้ประกอบการรายย่อย เกิดจากขาดกลไกดำเนินการ เพราะให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้คิดโครงการเอง ภาคเอกชนไม่มีส่วนร่วมเเละของบประมาณได้ตามเงื่อนไขที่ทางการกำหนด แต่การมีกองทุนเฉพาะ ซึ่งจะเป็นนิติบุคคล หรือเป็นส่วนเอกชน รวมถึงการตั้งสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องนั้น เชื่อว่า จะกลายเป็นฟันเฟืองทั้งหมด ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกัน เพื่อให้การใช้งบประมาณและการกระตุ้นเศรษฐกิจเกิดประสิทธิภาพและเป็นจริงได้