เตรียมผันน้ำจากภาคเหนือเข้าสู่ระบบชลประทาน ใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าที่สุด

2020-08-25 12:15:21

เตรียมผันน้ำจากภาคเหนือเข้าสู่ระบบชลประทาน ใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าที่สุด

Advertisement

สำนักงานชลประทานที่ 12 เผยสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา เตรียมผันน้ำจากภาคเหนือเข้าสู่ระบบชลประทาน บริหารน้ำให้คุ้มค่าที่สุด 


ที่บริเวณสำนักงานชลประทานที่12 เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท วันที่ 25 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฤษฎา ศรีเพิ่มพันธ์ ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 12 เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังจากมีปริมาณฝนตกหนักในพื้นที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยาเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ในหลายพื้นที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งมวลน้ำดังกล่าวเป็นผลดีในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง กรมชลประทานเตรียมฝันน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานบริหารน้ำให้คุ้มค่าที่สุด

โดยนายกฤษฎา ศรีเพิ่มพันธ์ ผอ.สำนักงานชลประทานที่12 เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในภาคเหนือเนื่องจากอิทธิพลล่องความกดอากาศทำให้มีฝนตกหนักทางภาคเหนือ ตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค.2563 เป็นต้นมา ในพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน และลุ่มน้ำยม จึงมีผลทำให้ปริมาณฝนที่ตก แบ่งเป็น 2 ส่วน ในลุ่มน้ำน่านที่ตกบริเวณเหนือเขื่อนสิริกิติ์จึงทำให้มีผลดี เพราะปริมาณน้ำฝนได้เติมน้ำในอ่างถึง 530 ล้านลูกบาศก์เมตร และอีกส่วนหนึ่งที่ตกทางด้านท้ายเขื่อนของลุ่มน้ำน่าน ขณะนี้เป็นน้ำท่า ก็ได้มีการระบายลงที่ด้านท้ายเขื่อนนเรศวร อยู่ที่ ประมาณ 630 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และอีกพื้นที่หนึ่งส่วนที่ตกในพื้นที่ลุ่มน้ำยมที่ผ่านเข้ามาทาง จ.สุโขทัย ซึ่งปริมาณฝนมีปริมาณมาก ทำให้เกิดน้ำท่วมอยู่ที่ จ.สุโขทัย และคาดว่าแม่น้ำยมที่ไหลผ่าน จ.สุโขทัยแล้วไหลมารวมกับแม่น้ำน่าน ที่ต้นแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.นครสวรรค์ ซึ่งจะมีผลต่อลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง


อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำที่จะไหลลงมาสู่ จ.นครสวรรค์จะมีปริมาณน้ำประมาณ 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งคาดว่าจะมาถึงที่ สถานีวัดน้ำ C.2 นครสวรรค์ ประมาณ วันที่ 28-29 ส.ค. 2563 นี้ เพราะฉะนั้นปริมาณน้ำในส่วนที่มาถึง จ.นครสวรรค์ ก็จะเป็นผลดีต่อพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง โดยทางกรมชลประทานจะสามารถผันน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก ซึ่งสามารถรับปริมาณน้ำได้ถึง 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยในฝั่งตะวันตกหรือฝั่งขวา สามารถรับน้ำได้ถึง 465 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนฝั่งตะวันออกหรือฝั่งซ้าย สามารถรับน้ำได้ถึง 275 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพราะฉะนั้นน้ำท่าส่วนนี้ก็จะมีผลดีในด้านการเกษตรการเพาะปลูกข้าวนาปี โดยกรมชลประทานจะบริหารมวลน้ำดังกล่าวที่ไหลลงมาจากทางภาคเหนือให้เกิดประโยชน์สูงสุดในพื้นที่