แห่งเดียวในไทย ปราสาทภูมิโปน เมืองสุรินทร์ มีอายุเก่าแก่ที่สุดถึง 1,300 ปี นักท่องเที่ยวเข้าชมไม่ขาดสาย ตะลึงตำนานเนียงเดาะธม ดอกลำเจียกที่ไม่เคยมีดอกมาเป็นพันปี แต่วันที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยือนเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ชาวบ้านกลับได้กลิ่นหอมของดอกลำเจียก ตลบอบอวล ทั่วบริเวณ
ที่ปราสาทภูมิโปน ต.ดม อ.สังขะ จ.สุรินทร์ พบว่าในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ตลอดทั้งวัน จะพบว่ามีนักท่องเที่ยวและนักเรียนนักศึกษาจากในพื้นที่และต่างจังหวัด เดินทางมาเที่ยวชมและสึกษาประวัติความเป็นมาของปราสาทภูมิโปน ซึ่งเป็นปราสาทที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีอายุกว่า 1,300 ปี ปี อย่างไม่ขาดสาย โดยมีทีมงานมัคคุเทศน์ชุมชน ซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ แต่งตัวพื้นบ้านมาคอยต้อนรับและเป็นไกค์นำชมองค์ปราสาท รวมทั้งสระชลประทานโบราณ 5 แห่ง ที่อยู่โดยรอบปราสาท และเล่าประวัติความเป็นมาต่างๆให้นักท่องเที่ยวได้ทราบอย่างน่าสนใจ
สำหรับประวัติความเป็นมา ปราสาทภูมิโปนสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากชื่อภาษาเขมร คือ ภูมิ ซึ่งหมายถึง แผ่นดินหรือสถานที่ และ "ปูน" ซึ่งออกเสียงว่า "โปน" แปลว่า "หลบซ่อน" รวมความแล้วมีความหมายว่า "ที่หลบซ่อน”ซึ่งสัมพันธ์กับนิทานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับปราสาทนี้คือเรื่อง เนียงเด๊าะทม แปลว่า นางนมใหญ่ ซึ่งมีเรื่องเล่าว่าเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์แต่ถูกนำมาพักอาศัย ณ เมืองแห่งนี้เพื่อหลบหนีภัยสงคราม ปราสาทภูมิโปน ต.ดม อ. สังขะจังหวัดสุรินทร์ เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ก่อสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒–๑๓ นับเป็นศาสนสถานศิลปะเขมรที่มีลายเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งที่พบในประเทศไทย

ปราสาทภูมิโปน ประกอบไปด้วยอาคาร 4 หลัง ตั้งเรียงกันในแนวทิศเหนือ-ใต้ อาคารที่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ คือปราสาทอิฐหลังใหญ่ เป็นหลักฐานสำคัญของสิ่งก่อสร้างตอนต้นของสมัยก่อนเมืองพระนครได้เป็นอย่างดี ส่วนอาคารอิฐที่อยู่ด้านข้าง เหลือแต่เพียงส่วนฐานและกรอบประตู ยังมีอาคารอิฐอีกหลังหนึ่งอยู่ห่างไปทางทิศเหนือราว 30 เมตร สภาพชำรุด พบทับหลัง 1 ชิ้น รูปลายที่แกะสลักมีรูปแบบศิลปะเขมรสมัยไพรเกมง (ไพร-กะ-เมง) ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณทสถานแห่งชาติ พิมาย จังหวัดนครราชสีมา นอกจากนี้ยังมีฐานอีกหลังหนึ่ง ก่อสร้างด้วยศิลาแลง สันนิษฐานว่าเป็นฐานของอาคารโถง มีหลังคาคลุมเป็นปราสาทหลังใหญ่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ก่อด้วยอิฐไม่สอปูนแบบศิลปะขอมรุ่นเก่า ซึ่งอาจเทียบได้กับกลุ่มปราสาทสมัยก่อนเมืองพระนคร สันนิษฐานว่าปราสาทนี้น่าจะเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกายุ พบชิ้นส่วนจารึกเป็นตัวอักษรปัลลวะภาษาสันสกฤต ซึ่งมีใช้ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 หรือกว่า 1,300 ปีมาแล้ว

นายทศ แม่นผล ประธานหมู่บ้านท่องเที่ยว บ.ภูมิโปน เล่าว่า ที่ปราสาทภูมิโปนแห่งนี้ มีกิจกรรมศูนย์เรียนรู้ให้กับนักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษา ที่เข้ามาเที่ยวและทัศนศึกษา เรื่องประวัติความเป็นมาของปราสาทภูมิโปน ขณะเดียวกันยังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่มักจะมีนักท่องเที่ยวมาขอพรแล้วประสบความสำเร็จ และมาแก้บนกันอย่างไม่ขาดสาย
ปราสาทภูมิโปนแห่งนี้ เป็นปราสาทขอมที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ถ้าจะดูปราสาทที่ใหญ่คือที่พิมาย ถ้าจะดูปราสาทที่สวยคือที่พนมรุ้ง และถ้าจะดูปราสาทเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยต้องมาดูที่ปราสาทภูมิโปนแห่งนี้ นอกจากนี้ยังมีสระชลประทานโบราณ ที่มีการทดน้ำมาใช้ที่ปราสาทภูมิโปน โดยมีสระน้ำ 2 ชั้น ที่เป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ถัดลงไปก็เป็นสระน้ำขนาดกลาง และเป็นบารายขนาดใหญ่ เป็นชั้นๆลงไป นอกจากนี้ ต้นลำเจียกที่นี่ไม่เคยมีดอก มีแต่ผลออกมา เพราะมีตำนานเล่าขานว่า เป็นที่หลบซ่อนของเนียงเดาะธม และนางได้อธิษฐานไว้ว่า นางจากภูมิโปนไปแล้ว ถ้าได้กลับมาขอให้มีดอก หลังจากนั้นต้นลำเจียกที่ปราสาทภูมิโปนแห่งนี้ก็ไม่เคยมีดอกอีกเลย แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว ครั้งที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชดำเนินมาที่ปราสาทภูมิโปนแห่งนี้ ชาวบ้านที่มารอรับเสด็จจำนวนมากต่างได้กลิ่นหอมของดอกลำเจียกคละคลุ้งไปทั่วบริเวณ แต่ก็หาดอกไม่พบ มีเพียงแต่กลิ่น ชาวบ้านจึงแปลกใจมาถึงทุกวันนนี้ ซึ่งหากนักท่องเที่ยวอยากทราบประวัติความเป็นมาของปราสาทที่ลึกกว่านี้ จะต้องมาชมงานตำนานเนียงเดาะธม ที่จัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งหากนักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษาจะเข้ามาเที่ยวทัศนศึกษา ก็สามารถติดต่อเข้ามาได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 087-9634929

สำหรับปราสาทภูมิโปน เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยแห่งนี้ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาเที่ยวได้ทุกวัน นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นที่อยู่ไม่ไกลกันนัก ที่นักท่องเที่ยวจะสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวต่อได้ อาทิ พุทธอุทยานวัดเขาศาลา ตั้งอยู่ที่ ต.จรัส อ.บัวเชด จ.สุรินทร์ มีพระพุทธรูปตั้งอยู่บนหน้าผาชายแดนที่สวยงาม และยังสามารถไปเที่ยวผากูปรี กราบสักการะสรีระสังขารที่ไม่เน่าเปื่อยของหลวงปู่สรวง วัดไพรพัฒนา (วัดหลวงปู่สรวง เทวดาเดินดิน) อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษที่อยู่ไม่ไกลกัน รวมไปถึงตลาดการค้าชายแดนช่องจอม ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ,ปราสาทตาควาย ต.บักได อ.พนมดงรัก และกลุ่มปราสาทตาเมือน ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ได้อีกด้วย