นักดนตรีของ “พ่อ” กับการสืบสานมรดกที่ไม่อาจประเมินค่า

2017-10-05 10:00:19

นักดนตรีของ “พ่อ” กับการสืบสานมรดกที่ไม่อาจประเมินค่า

Advertisement

หนึ่งในพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชซึ่งพสกนิกรชาวไทยต่างรับรู้และคุ้นเคยดีที่สุดคือ พระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรี ซึ่งล่าสุดได้ผู้ชายคนหนึ่งก็ได้ก้าวออกมาแสดงเจตนารมณ์อันแรงกล้าเกี่ยวกับการสืบทอดมรดกอันล้ำค่าที่พระองค์ทรงมอบไว้ให้กับประเทศชาติเอาไว้ว่า


“...ประชาชนทุกคนเป็นเสมือนผู้รับไม้ผลัด หรือการรับต่อคบเพลิง ช่วยกันสืบทอด รักษาเพลงพระราชนิพนธ์ที่ทรงพระราชทานให้เป็นเอกลักษณ์และสมบัติของชาติสืบไป...”

ผู้ชายคนดังกล่าวคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ หนึ่งในสมาชิก วง อ.ส. วันศุกร์ ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงแซกโซโฟนเป็นนายวง โดย ดร.ภาธร นั้นนับเป็นบุคคลหนึ่งในไม่กี่คนที่ได้ถวายงานอย่างใกล้ชิดในเรื่องของดนตรี ไม่ว่าจะเป็นการร่วมเล่นดนตรี เรื่อยไปจนถึงการทำโน้ตเพลงพระราชนิพนธ์ฉบับแก้ไขถวาย


ดร.ภาธร ได้เผยถึงพระอัจฉริยภาพทางดนตรีที่เขาได้สัมผัสมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ได้ถวายงานว่า 

“พระปรีชาสามารถหรือพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีของพระองค์ท่านนั้นหายากมาก คือต่อให้เป็นนักดนตรีแจ๊ซมืออาชีพก็ยังมีส่วนน้อยที่จะเล่นได้เหมือนพระองค์ท่าน คือพระองค์ท่านทรงเครื่องเป่าทองเหลืองและเครื่องเป่าลมไม้ได้ อีกทั้งยังทรงเปลี่ยนเครื่องดนตรีได้ทันทีระหว่างที่ทรงเพลงใน 1 เพลง ซึ่งเป็นความสามารถที่มีน้อยคนนักที่จะทำได้

“พระปรีชาสามารถอีกอย่างหนึ่งคือการประพันธ์บทเพลง คือบทเพลงพระราชนิพนธ์ในแต่ละเพลงนั้นจะมีโลกของเขาเอง โดยเป็นช่วงเวลาและความรู้สึกหรืออารมณ์ของเพลงนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็น เพลงสวิง เพลงนิวออร์ลีนแจ๊ส เพลงรัก เพลงแจ๊ซ เพลงวอลซ์ เพลงคลาสสิกร่วมสมัย เพลงมาร์ช รวมทั้งเพลงที่ฝรั่งไม่มี คือเพลงปลุกใจ และแต่ละบทเพลงก็จะมีความยากง่ายต่างกันไป ทรงใช้คอร์ดได้แยบยล และการใช้เมโลดี้ในบางบทเพลงนั้นก็ทำให้เราอ้าปากค้างกันเลยทีเดียว ทุกครั้งที่เล่นถวายพระองค์ท่านในทุกอาทิตย์นั้นคือความทรงจำทั้งชีวิตของผม คือผมอาจจะเป็นแค่ส่วนหนึ่งของพระองค์ท่าน แต่พระองค์ท่านเป็นทั้งชีวิตของผมเลยก็ว่าได้ครับ”


ดร.ภาธร ยังกล่าวทิ้งท้ายถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีต่อตัวเขาเอาไว้ว่า



 “พระองค์ท่านมีอิทธิพลกับชีวิตของผมในทุกๆ ด้าน คือพระองค์ทรงให้แสงสว่างแก่ผม จากตอนที่ผมเห็นพระองค์ท่านทรงแซกโซโฟน แล้วผมก็อยากเรียนต่อเมืองนอก พระองค์ท่านก็ทรงพระราชทานพระราชานุญาต และยังพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงให้ผมไปเรียน แล้วเมื่อกลับมาพระองค์ก็ทรงให้ทำงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาท จะเกี่ยวกับการเล่นดนตรีก็ดีบทเพลงพระราชนิพนธ์ก็ดี รวมทั้งส่วนที่ไม่เกี่ยวกับดนตรีเช่นกัน

"เพราะพระองค์ท่านทรงเป็นครู ทรงสอนผมเรื่องการใช้ชีวิต แม้กระทั่งตอนที่ผมจะแต่งงาน เมื่อทรงทราบก็ทรงมีรับสั่งให้ผมมาเข้าเฝ้าทันที ทั้งที่ปกติแล้วท่านจะทรงไปพระราชทานน้ำสังฆ์ก่อน และเมื่อถึงวันงาน ท่านก็ทรงรู้จักผมดีและทรงกลัวว่าผมจะลืมวันแต่งงาน จึงมีรับสั่งให้จัดในวันวาเลนไทน์ ไม่เพียงแค่นั้น ขณะนั้นพระองค์ท่านทรงประทับที่ศิริราช จึงได้พระราชทานน้ำสังฆ์กันที่ศิริราชเลย เรียกได้ว่าท่านทรงมีพระมหากรุณาธิคุณกับครอบครัวของผมอย่างหาที่สุดมิได้ครับ”


ภาพ Facebook: Pathorn Srikaranonda