เฝ้าระวังน้ำเสียทะลักท่วมหมู่บ้าน

2017-10-03 17:10:18

เฝ้าระวังน้ำเสียทะลักท่วมหมู่บ้าน

Advertisement

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ หลังบ่อน้ำเสียโรงงานเอทานอลพังทลาย

เมื่อวันที่ 3 ต.ค. นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้มีฝนตกหนักติดต่อกันหลายชั่วโมง ทำให้บ่อพักน้ำเสียของโรงงานไทยอะโกร เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจโรงงานผลิตและจำหน่ายเอทานอลจากกากน้ำตาลและมันสำปะหลัง เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิง ได้พังทลายทำให้เกิดน้ำไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ในพื้นที่หมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 15 ต.หนองมะค่าโมง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี หลังเกิดเหตุ คพ. และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบพื้นที่ พบว่าน้ำที่ท่วมเป็นน้ำฝนปนกับน้ำเสียจากบ่อพักน้ำเสีย

นางสุณี กล่าวต่อว่า ฝนที่ตกหนักทำให้น้ำไหลหลาก ส่งผลให้คันกั้นบ่อพักน้ำเสียของโรงงานซึ่งกักเก็บอยู่ประมาณ 300,000 ลูกบาศก์เมตร ตั้งอยู่เหนือหมู่บ้านเกิดพังทลายลงทำให้น้ำเสียไหลบ่ามาใส่บ้านเรือน ไร่นา และถนนหนทาง ที่อยู่ในพื้นที่ที่ต่ำกว่า จากนั้นไหลเข้าพื้นที่ ต.หนองกระทุ่ม อ.เดิมบางนางบวช ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกับ อ.ด่านช้าง และไหลลงสู่ห้วยกระเสียว ในเบื้องต้นน้ำเสียยังถูกกักเก็บไว้ในห้วยกระเสียวโดยมีการปิดประตูระบายน้ำป้องกันน้ำเสียไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน




อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวอีกว่า คพ. ร่วมกับ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสุพรรณบุรี และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 5 (นครปฐม) เข้าสำรวจพื้นที่เกิดเหตุ และตรวจวัดคุณภาพน้ำในพื้นที่ห้วยกระเสียว และบ่อพักน้ำเสียของโรงงาน เพื่อใช้ประเมินสถานการณ์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ซึ่งได้เก็บตัวอย่างน้ำและดินมาตรวจอย่างละเอียด ขณะเดียวกันได้ปิดประตูระบายน้ำชลประทานป้องกันไม่ให้น้ำเสียไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน รวมทั้งให้ทางโรงงานดำเนินการสูบน้ำเสียที่ไหลลงสู่พื้นที่เพาะปลูกและบ้านเรือนของประชาชนนำกลับไปเข้าสู่ระบบบำบัด และเร่งซ่อมคันดินบ่อพักน้ำเสียให้มีความแข็งแรงไม่ให้เกิดการพังทลายขึ้นอีก

นางสุณี กล่าวว่า น้ำเสียที่มีสีดำคล้ำปนสีน้ำตาล เนื่องจากเป็นกากน้ำตาลในกระบวนการผลิตเอทานอล มีกลิ่นฉุน ไม่พบการปนเปื้อนสารโลหะหนัก สำหรับผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำจากห้องปฏิบัติการจะทราบผลประมาณ 1 สัปดาห์ ดังนั้นแนะนำประชาชนพยายามหลีกเลี่ยงสัมผัสน้ำเสียโดยตรง สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณลำน้ำท่าจีน โดยเฉพาะเกษตรกรที่เลี้ยงปลากระชัง หรือต้องนำน้ำไปใช้ในการเกษตร ขอให้ระมัดระวังและคอยสังเกตการเปลี่ยนแปลงของน้ำและสัตว์น้ำอย่างต่อเนื่อง