เผยสถานการณ์น้ำ “ลุ่มเจ้าพระยา” เตรียมพร้อมรับมือน้ำเหนือ

2020-08-05 14:55:03

เผยสถานการณ์น้ำ “ลุ่มเจ้าพระยา” เตรียมพร้อมรับมือน้ำเหนือ

Advertisement

สำนักงานชลประทานที่ 12 เผยสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา และการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำเหนือ

วันที่ 5 ส.ค. ที่บริเวณสำนักงานชลประทานที่ 12 เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท นายกฤษฎา ศรีเพิ่มพันธ์ ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 12 เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา และการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากจากทางภาคเหนือ โดยนายกฤษฎา ศรีเพิ่มพันธ์ ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 12 เปิดเผยว่า ขณะนี้หลังจากที่ พายุซินลากู ได้สลายตัวไปจากทางภาคเหนือ ฉะนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากพายุที่เข้ามา เมื่อวันที่ 1-4 ส.ค.ที่ผ่านมาทางภาคเหนือ ซึ่งจะทำให้มีน้ำอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนที่ตกทางด้านเหนือเขื่อน ทั้ง 2 เขื่อนหลัก โดยเฉพาะทางลุ่มน้ำน่าน ในเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งผลที่จะได้รับ จะมีการระบายน้ำเข้าสู่อ่างเก็บน้ำ ประมาณ 335 ล้านลูกบาศก์เมตร แล้วจากการคาดการณ์ว่า จะมีการระบายน้ำลงสู่อ่างเก็บน้ำเพิ่มเติมอีก ประมาณ 205 ลูกบาศก์เมตร ส่วนทางด้านเขื่อนภูมิพล มีการระบายน้ำลงสู่อ่างเก็บน้ำ ตั้งแต่วันที่ 1-5 ส.ค.ที่ผ่านมา ประมาณ 69 ล้านลูกบาศก์เมตร และจากการคาดการณ์ว่าจะมีน้ำระบายลงสู่อ่างเก็บน้ำอีกประมาณ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะมาเติมปริมาณน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะเป็นผลดีที่มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น

ส่วนที่ 2 คือ น้ำท่า คือปริมาณฝนที่ตกทางด้านท้ายเขื่อนดังนั้นน้ำส่วนนี้ ทางกรมชลประทานจะมีการบริหารน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งขณะนี้ ลุ่มน้ำน่านก็มีปริมาณน้ำที่ฝนตกทางท้ายเขื่อนที่ไหลผ่านลงมา และคาดการณ์ว่าจะเดินทางมาถึง จ.นครสวรรค์ 400-500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในส่วนแม่น้ำปิง คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำท่าไหลลงมา ประมาณ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจะเดินทางมาถึง จ.นครสวรรค์ ประมาณ วันที่ 8 ส.ค.2563 ดังนั้นปริมาณน้ำท่าที่จะเข้ามาในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระก็จะทำให้มีผลดีกับในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งทางกรมชลประทานได้กำชับให้สำนักงานชลประทานในพื้นที่ บริหารน้ำให้เกิดประโยชน์ที่สุด โดยจะผันน้ำเข้าสู่ระบบ คลองฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา และให้ยกระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ที่ ระดับ +14 เมตร รทก. และคาดว่าในปีนี้ ช่วงเดือนสิงหาคม และกันยายน จะมีปริมาณฝนตกชุกขึ้น และฝนจะหมดในประมาณช่วงกลางเดือนตุลาคม นอกจากนี้คาดการณ์ว่าจะมีพายุเข้าอีก1ลูก ซึ่งหลังจากนี้เกษตรกรที่ทำนาปี ก็จะสามารถทำนาปีได้อย่างทั่วถึง




สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำจากทางภาคเหนือขณะนี้ ทางกรมชลประทานได้มีการตรวจสอบอาคารระบายน้ำต่างๆ รวมไปถึงการขุดลอกคูคลองต่างๆ กำจัดวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำ และเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือต่างๆในการระบายน้ำ ส่วนในพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีการทำนาปี ตั้งแต่เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม ปัจจุบัน เดือนสิงหาคม แล้ว เกษตรกรส่วนใหญ่ก็เริ่มที่จะเก็บเกี่ยว ก็จะมีพื้นที่รองรับน้ำหลากในพื้นลุ่มต่ำในบางพื้นที่