สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ ยูเออี เริ่มเปิดใช้งานเตาปฏิกรณ์ 1 ใน 4 เตา โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ แห่งแรกของโลกอาหรับ เมื่อวันเสาร์ (1 ส.ค.) โดยโรงงานบารากาห์ ตั้งอยู่ริมฝั่งอ่าวเปอร์เซีย ใกล้เขตแดนกาตาร์ และอยู่ตรงข้ามอ่าวกับอิหร่าน ประเทศคู่อริด้านความมั่นคง
เดิมทีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บารากาห์ ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ ซึ่งใช้เทคโนโลยีเกาหลีใต้ กำหนดจะเปิดใช้งานในปี พ.ศ. 2560 แต่ถูกเลื่อนออกไปหลายครั้ง เนื่องจากปัญหาหลายประการทางด้านความปลอดภัย รัฐบาลยูเออี ประเทศร่ำรวยน้ำมันแห่งตะวันออกกลาง ต้องการให้โรงไฟฟ้าบารากาห์ ตอบสนองความต้องการใช้พลังงาน 1 ใน 4 ของประเทศ ขณะที่หันมาหาแหล่งพลังงานที่มีความยั่งยืนมากขึ้น
นอกจากนี้ ยูเออียังลงทุนมหาศาล ในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีแหล่งเหลือเฟือในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย และทำให้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการเปิดโรงงานบารากาห์ เนื่องจากพลังงานแสดงแดดสะอาดกว่า ราคาถูกกว่า และปลอดภัยกว่า เมื่อมองจากสถานการณ์ด้านความมั่นคงในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นความตึงเครียดทางการเมือง หรือภัยคุกคามจากกลุ่มก่อการร้าย
ปีที่แล้ว กาตาร์ซึ่งเป็นประเทศคู่อริของยูเออีและซาอุดีอาระเบีย กล่าวถึงโรงไฟฟ้าบารากาห์ ว่า เป็น “ภัยคุกคามอย่างเห็นได้ชัด ต่อสันติภาพและสิ่งแวดล้อม”
ดร.พอล ดอร์ฟแมน นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ แห่งกรุงลอนดอน ผู้อำนวยการสถาบัน นิวเคลียร์ คอนซัลทิง กรุ๊ป เขียนบทความเมื่อปีที่แล้วว่า สภาพแวดล้อมตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในอ่าวเปอร์เซีย ทำให้นิวเคลียร์เป็นประเด็นถกเถียง มากกว่าภูมิภาคอื่นๆ เนื่องจากมหาอำนาจนิวเคลียร์ใหม่ มีศักยภาพพัฒนาและผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้”
ดร.ดอร์ฟแมนยังได้เตือนยูเออี ให้ระวังความเสี่ยงจากมลพิษสารกัมมันตรังสี ในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย