"อ.เจษฎา"เตือนเปิป"ซูชิเรืองแสง"ระวังท้องร่วง-อาหารเป็นพิษ

2020-07-28 14:40:55

"อ.เจษฎา"เตือนเปิป"ซูชิเรืองแสง"ระวังท้องร่วง-อาหารเป็นพิษ

Advertisement

"อ.เจษฎา" ย้ำพบ "ซูชิเรืองแสง" ควรส่งให้ "กองควบคุมอาหาร" ตรวจสอบ เตือนหากเปิปพิษดารอาจท้องร่วง-อาหารเป็นพิษ

เมื่อวันที่ 28 ก.ค. รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์" อธิบายถึงกรณีมีคนโพสต์ภาพ "ซูชิเรืองแสง" ส่งผลให้เกิดความสงสัยกับคนในโซเชียลเป็นจำนวนมาก ว่า อาหารทะเล เรืองแสงได้เพราะอะไร เช้านี้มีหลายคนส่งรูป ซูชิหน้ากุ้งดิบ ว่าไปเจอที่มันเรืองแสงได้เองในที่มืด โดยไม่ได้ไปฉายแสงแบล็คไลท์ หรือแสงยูวี อยากรู้ว่าเกิดจากอะไร เรื่องอย่างนี้ควรส่งไปให้หน่วยงานที่รับผิดชอบอย่าง เช่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจสอบก่อนจึงจะชัดเจนมากที่สุดว่าเกิดจากอะไร แต่ถ้าจะให้สันนิษฐานว่าเกิดจากอะไรได้บ้าง ก็คงต้องเทียบเคียงกับที่เคยมีคนพบลูกชิ้นปลาเรืองแสงเมื่อปี 2553

รศ.ดร.เจษฎา ระบุเพิ่มเติมว่า กองควบคุมอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เคยอธิบายไว้ว่ามีสาเหตุที่เป็นไปได้ 3 อย่าง คือ 1.อาจเกิดจากการเจริญของเชื้อแบคทีเรียในทะเล กลุ่ม photobacterium phosphoreum ซึ่งสามารถผลิตสารเรืองแสงได้ เช่น Pseudomonas sp., Pseudomonas fluorescens, Vibrio fischeri, Vibrio phosphoreum, Vibrio harveyi, Photobacterium luciferum ติดมากับปลาที่ใช้ทำลูกชิ้น แต่เชื้อพวกนี้จะถูกทำลายไปด้วยความร้อนระหว่างการผลิตลูกชิ้น ถ้าพบเยอะขนาดที่เรืองแสงบนลูกชิ้นได้ แสดงว่าอาจปนเปื้อนหลังผ่านความร้อนแล้ว โดยอาจเก็บลูกชิ้นไว้ที่อุณหภูมิไม่ต่ำเพียงพอ ซึ่งควรต่ำกว่า 4 องศาเซลเซียส ทำให้เชื้อเพิ่มจำนวนขึ้น 2.ปลาที่เอามาทำลูกชิ้นนั้นอาจกินแพลงก์ตอนสาหร่ายกลุ่มไดโนแฟลกเจลเลต หรือเชื้อแบคทีเรียวิบริโอ เช่น Vibrio harveyi ที่เรืองแสงในน้ำได้ และ 3.อาจมีการเติมสารเคมีบางชนิดที่มีฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบ เช่น วัตถุเจือปนอาหารประเภทฟอสเฟต ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดความชุ่มชื้น และทำให้เกิดความนุ่มเหนียว รวมถึงสารฟอกขาว เช่น ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์, โซเดียมไฮโดรซัลไฟต์




รศ.ดร.เจษฎา ยังระบุอีกว่า ถ้าประเมินจากแค่ 3 สาเหตุนี้ การที่ซุชิหน้ากุ้งดิบจะเรืองแสงได้ น่าจะมาจากการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์เรืองแสงที่เนื้อกุ้ง มากกว่าเรื่องของใส่สารเคมี ซึ่งต้องเอาไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการว่าเป็นเชื้อชนิดใดและมีอันตรายแค่ไหน รวมไปถึงต้องตรวจสอบที่มา ว่ามีปัญหาเรื่องสุขลักษณะในการผลิตและการเก็บรักษาหรือไม่ คำแนะนำที่พอจะพูดได้ คือ ถ้าพบลักษณะอาหารผิดปกติแบบนี้ไม่ควรนำมาบริโภค เพราะนอกจากเชื้อจุลินทรีย์เรืองแสงได้แล้ว ยังอาจมีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งก่อโรคชนิดอื่นๆ ด้วย จึงอาจมีอันตรายต่อสุขภาพ โดยอาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย และอาหารเป็นพิษได้