สหรัฐบีบพันธมิตรประชาธิปไตย เลือกข้างต้านจีน

2020-07-25 18:30:41

สหรัฐบีบพันธมิตรประชาธิปไตย เลือกข้างต้านจีน

Advertisement


นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ กำลังเรียกร้องให้ “พันธมิตรประชาธิปไตย” เผชิญหน้ากับจีน ซึ่งเท่ากับเป็นการก่อสงครามเย็นครั้งใหม่ ที่หลายประเทศกำลังถูกบีบให้เลือกข้าง จะอยู่กับสหรัฐหรือจีน มันเป็นการแสดงอำนาจเผด็จการสุดคลาสสิกของทางสหรัฐ แต่ก็ยังเป็นชาวอเมริกันที่กำลังกล่าวหาจีนว่าเป็น “ทรราชย์ใหม่” ในโลก โดยมองข้ามพฤติกรรมของรัฐบาลตัวเอง

อย่างไรก็ตาม การแบ่งแยกโลกอย่างที่สหรัฐกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมานี้ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน ซึ่งหลอมรวมจนแยกกันไม่ออก จากตลาดผู้บริโภค และตลาดเงิน ไปจนถึงห่วงโซ่อุปทาน



กองทัพสหรัฐต้องพึ่งพาจีนในการจัดหาโลหะหายากที่ใช้ในระบบอาวุธของสหรัฐ

ในความเป็นจริงแล้ว เศรษฐกิจของสหรัฐขาดจีนไม่ได้ ในฐานะที่จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของอเมริกา โดยในปี 2562 สหรัฐขาดดุลการค้ากับจีน 345,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10,911,660 ล้านบาท แม้อยู่ในช่วง 3 ปีของนโยบาย “สร้างอเมริกาให้ยิ่งใหญ่อีกครั้ง” (Making America Great Again) ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ตาม ซึ่งจะเรียกว่าเป็นนโยบายสร้างชาติของทรัมป์ก็ไม่ผิด แต่ตัวเลขขาดดุล ยังบวมเป่ง



ถ้าพูดถึงตัวเลขขาดดุลการค้ากับจีน มีประมาณครึ่งหนึ่ง ที่สหรัฐขาดดุลกับประเทศที่เหลือในโลก และมันก็เป็นแบบนี้มานานหลายปีแล้ว เพราะฉะนั้น แนวคิด หรือการกระทำแบบใช้อำนาจบาตรใหญ่ในการ “ตัดขาดกับจีน” อย่างที่ทรัมป์บอกว่าตั้งใจจะทำนั้น จึงไม่ใช่เรื่องยาก มันจึงเป็นการย้อนรอยการสร้างศัตรูในช่วงสงครามเย็นกับจีนอย่างไร้ประโยชน์ ได้ไม่คุ้มเสีย การสั่งปิดสถานกงสุลตอบโต้กันและกัน และการตั้งข้อกล่าวการจารกรรม กำลังนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างแท้จริง

เช่นเดียวกัน สำหรับพันธมิตรของอเมริกา ซึ่งวอชิงตันกำลังเร่งเร้าให้เข้าร่วมในสงครามเย็นครั้งนี้ ออสเตรเลีย, อังกฤษ, แคนาดา และอีกหลายประเทศ กำลังถูกจับมายืนอยู่ตรงกลางในการต่อสู้ด้านอุดมการณ์ ซึ่งจะส่งผลเสียหายอย่างหนักต่อเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ เกษตรกรออสเตรเลียได้ลิ้มรสความเจ็บปวดไปแล้ว หลังจากจีนยกเลิกคำสั่งนำเข้า เนื่องจากรัฐบาลออสเตรเลีย มีพฤติกรรมทำตัวเป็น “ไส้ติ่ง” ของสหรัฐ กรณีการกล่าวอ้างเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในแนวยั่วยุจีน ซึ่งทั่วโลกจะเห็นภาพข่าวชาวจีน หรือชาวเอเชียในออสเตรเลีย ถูกคนออสเตรเลียทำร้าย เพราะโกรธแค้นเรื่องการระบาดของไวรัส

นายปอมเปโอเดินทางเยือนกรุงลอนดอนในสัปดาห์นี้ ซึ่งเขาเรียกร้องให้ “โลกเสรี” ลุกขึ้นมาต่อต้านจีน ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลอังกฤษประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยกเลิกข้อตกลงการเป็นพันธมิตรกับ “หัวเว่ย” บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน ในการปรับปรุงและพัฒนาระบบโทรคมนาคมของอังกฤษให้มีความทันสมัย ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าว ถูกกระตุ้นโดยแรงกดดันต่อรัฐบาลลอนดอนที่ถาโถมมาจากรัฐบาลทรัมป์ ที่ยัดข้อหาบริษัทของจีนว่า “เสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติ” แต่ดูเหมือนว่า รัฐบาลอังกฤษก็รู้ชะตากรรมตัวเองอยู่แล้วว่าจะได้รับผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างเลวร้าย การพัฒนาโครงสร้างโทรคมนาคมให้มีความทันสมัย จะต้องล่าช้าออกไปและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็จะสูงขึ้นด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น จีนยังเป็นหุ้นส่วนการค้าที่สำคัญกับอังกฤษด้วย เพราะความที่จีนเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 รองจากสหรัฐ ขณะที่ อังกฤษต้องกำหนดบทบาทของตัวเองในสภาพแวดล้อมการค้าโลกใหม่หลังเบร็กซิต ยิ่งจะต้องพึ่งพาจีนมากกว่าแต่ก่อนมาก



ในขณะที่ สหภาพยุโรป หรืออียูเอง ก็พึ่งพาจีนสำหรับการค้าและการลงทุนไม่ใช่น้อย จึงเป็นเหตุผลอธิบายได้ว่า ทำไมบรรดาผู้นำยุโรปจึงเป็นกังวลกับนโยบายเลือกข้างของสหรัฐ ซึ่งผลักดันให้โลกเข้าสู่สงครามเย็น

“การตัดความสัมพันธ์กับจีน จึงเปรียบเสมือนกับการตัดจมูกออกจากใบหน้าตัวเอง”