"คณะก้าวหน้า"ติดตามโครงการสวนผักคนเมืองเชียงใหม่

2020-07-09 23:45:16

"คณะก้าวหน้า"ติดตามโครงการสวนผักคนเมืองเชียงใหม่

Advertisement

"คณะก้าวหน้า"ติดตามความคืบหน้าโครงการสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ โมเดลใช้พื้นที่รกร้างเป็นพื้นที่สาธารณะ ชี้รัฐราชการรวมศูนย์ปิดกั้นโอกาสท้องถิ่นในการพัฒนา

เมื่อวันที่ 10 ก.ค. น.ส.เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า และอดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่สัดส่วนภาคเหนือ พร้อมด้วย นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และอดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เยี่ยมชมและติดตามความก้าวหน้าของโครงการ “สวนผักคนเมืองเชียงใหม่” ที่ น.ส.เยาวลักษณ์ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ร่วมกันเป็นคณะผู้ก่อการผลักดันให้เกิดโครงการนี้ขึ้น ทั้งนี้พื้นที่สวนผักดังกล่าวคือการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างที่เป็นที่ทิ้งขยะกลางเมืองให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวที่สร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและการเรียนรู้


น.ส.เยาวลักษณ์ กล่าวว่า สวนผักคนเมืองเชียงใหม่แห่งนี้แต่เดิมคือที่ดินที่ปล่อยรกร้างเพื่อทิ้งเศษอิฐเศษปูนจากการพัฒนาเมืองและเป็นที่ทิ้งขยะต่าง ๆ ซึ่งภายหลังจากวิกฤตโควิด ก็ได้มีการปรึกษาพูดคุยกับศุภวุฒิ สถาปนิกชุมชนถึงประเด็นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เมื่อเมืองถูกปิดจากการจัดการโรคระบาด ชาวบ้านในพื้นที่จะประสบปัญหาในหลายๆด้าน รวมทั้งปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารซึ่งเป็นภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ เมื่อเห็นปัญหาดังนั้นจึงร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆและคนในชุมชน ผลักดันพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและเป็นพื้นที่สร้างความมั่นคงทางด้านอาหารในเมืองได้อย่างแท้จริง


น.ส.เยาวลักษณ์ ระบุว่า พื้นที่แห่งนี้ที่ได้เริ่มทำโครงการ มีการคาดการณ์ว่าจะได้ผลผลิต รวม 60,000 กิโลกรัมต่อปี โดยสามารถเลี้ยงดูผู้คนได้กว่า 300 ครัวเรือน และเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่คนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ เช่น พื้นที่เรียนรู้เกษตรกรรมในเมือง เป็นสวนสาธารณะที่กินได้และ เป็นพื้นที่ตลาดอาหารปลอดภัยในราคาเป็นธรรมที่ชาวบ้านสามารถเข้าถึงได้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันสวนแห่งนี้ซึ่งมีพื้นที่ขนาด 3 ไร่ ตั้งอยู่กลางเมืองเชียงใหม่ โดยเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ (นสล.) ที่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดให้ยืมใช้เป็นเวลา 1 ปี เนื่องจากระเบียบราชการไม่เอื้อให้สามารถทำได้ในระยะยาว หากจะขยายเวลาต่ออีกต้องส่งไปอนุมัติที่ส่วนกลาง ทำให้เห็นว่าการเป็นรัฐราชการรวมศูนย์ ส่งผลให้แทนที่จะสามารถปลดปล่อยศักยภาพของชุมชน และความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ ของภาคีเครือข่ายต่าง ๆ แต่เมื่อต้องเผชิญกับกฎระเบียบของทางราชการ และการที่อำนาจตัดสินใจอยู่ที่ส่วนกลาง กลายเป็นการไปปิดกั้นโอกาสการพัฒนาเมืองในรูปแบบใหม่ๆ ที่จะสร้างความยั่งยืนและเป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่ที่แท้จริง จึงมองว่าท้องถิ่นควรจะสามารถจัดการได้มากกว่านี้ โดยต้องให้ท้องถิ่นมีทั้งอำนาจ งบประมาณ บุคลากร เครื่องจักร ในการตัดสินใจได้เองในพื้นที่

“นอกจากนี้ หากสามารถทำสำเร็จได้ที่เชียงใหม่ จะสามารถปูทางเป็นโมเดลให้เกิดขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศไทยได้ เพราะแต่ละพื้นที่จะติดอุปสรรคของระบบระเบียบราชการแบบเดียวกัน นี่จึงเป็นโอกาสของท้องถิ่น ของภาคประชาชนที่จะทำให้สามรถเข้าไปออกแบบพัฒนาพื้นที่สาธารณะ เข้าไปมีส่วนร่วม และเป็นการก้าวไปสู่การสร้างความมั่นคงในรูปแบบใหม่ๆให้กับประชาชน ทั้งความมั่นคงทางด้านอาหาร ความมั่นคงทางด้านสุขภาพ” น.ส.เยาวลักษณ์ กล่าว


ด้านนายศุภวุฒิ บุญมหาธนากร สถาปนิกชุมชนและเป็นคณะผู้ก่อการที่ทำให้เกิดโครงการนี้ขึ้น กล่าวว่า ที่ดินผืนนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะตั้งอยู่ระหว่างพื้นที่เศรษฐกิจย่านถนนช้างคลานและพื้นที่อยู่อาศัยของชุมชนผู้มีรายได้น้อยริมคลองแม่ข่าซึ่งประกอบอาชีพในภาคบริการให้กับเมือง คือคนตัวเล็กตัวน้อย ที่เป็นฟันเฟืองหนึ่งในการอุ้มชูเศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่ หากสามารถสร้างความเท่าเทียมและการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่พวกเขา พื้นที่นี้จะกลายเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สำคัญของเชียงใหม่ หรือสามารถกลายเป็นโมเดลการพัฒนาเมืองในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศไทยได้ อีกทั้งความสำเร็จที่สำคัญของโครงการนี้คือเกิดวัฒนการทำงานร่วมกันของภาคส่วนต่าง ๆ ภายใต้ระบบที่ยังไม่เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วม