พบ60%ผู้ป่วยใหม่ไม่มีอาการ แหยงนักเที่ยวทราเวลบับเบิล

2020-07-09 20:50:07

พบ60%ผู้ป่วยใหม่ไม่มีอาการ   แหยงนักเที่ยวทราเวลบับเบิล

Advertisement


รายงานการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 วันที่ 9 ก.ค.63 พบเพิ่ม 5ราย จากสถานที่ควบคุมโรคแห่งรัฐ เป็นผู้เดินทางกลับจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 4 ราย เป็นชาย 3 ราย อายุ 38, 40 ,54 ปี และหญิงไทย 1 ราย อายุ 42 ปี ทั้งหมดอาชีพรับจ้าง ถึงไทยวันที่ 2 ก.ค. 63 ตรวจพบเชื้อวันที่ 7ก.ค.63 ทั้งหมดไม่มีอาการ อีก 1 ราย เป็นนักศึกษาชายไทย อายุ 22 ปี เดินทางกลับจากประเทศอียิปต์ มาถึงไทยเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 63 มีอาการการได้กลิ่นและรับรู้รสลดลงขณะตรวจคัดกรอง ตรวจพบเชื้อในวันเดียวกัน


ยอดสะสมผู้ติดเชื้อ 3,202 ราย อยู่ในสถานที่ควบคุมโรคที่รัฐจัดให้ 265 ราย หายแล้ว 3,085 ราย รักษาในโรงพยาบาล 59 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม และไม่พบผู้ติดเชื้อจากภายในประเทศ ติดต่อกันเป็นวันที่ 45 (เดือนครึ่ง) นับจากวันที่ 25 พ.ค.63





ถึงจะไม่มีผู้ติดเชื้อจากภายในประเทศ แต่ผู้ติดเชื้อที่กลับจากต่างประเทศ เมื่อครบกำหนด หรือรักษาหาย ก็ต้องไปอยู่กับชุมชน แพทย์จึงต้องศึกษาอาการ ผลการรักษาเพื่อการวิจัย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 (ศบค.) แถลงถึงการติดตามอาการของของผู้ป่วยเหล่านี้ว่า ช่วงแรกของการรับกลับเข้าประเทศ ส่วนใหญ่มีอาการ มากกว่าไม่มีอาการ คือกลุ่มมีอาการ 51.2% กลุ่มไม่มีอาการ 48.8%






แต่ระลอกหลัง ตั้งแต่1 พ.ค. – 8 ก.ค. 63 ปรากฏว่า การตรวจ จะพบผู้ติดเชื้อโดยผู้ป่วยไม่ค่อยมีอาการ โดยพบว่าไม่มีอาการถึงเกือบ 58.9% โดยคุณหมอระบุว่า เป็นการสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของโรค สถิตินี้มีความสำคัญในการดูแลผู้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย พร้อมย้ำว่า ประชาชนทุกคนยังต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้าในการดูแลสุขภาพส่วนบุคคลอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19


นอกจากนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก สำนักงานภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลศิริราช สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชน มีผู้ตอบแบบสอบถาม 407,008 ราย ใน 77 จังหวัด ในช่วง 7 สัปดาห์ (15 พ.ค. - 2 ก.ค. 63) พบว่า พฤติกรรมการป้องกันตัวเองเฉลี่ยทั้งประเทศ 0.84 (เต็ม 1) จำแนกเป็น การใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา 0.92 การกินร้อนและใช้ช้อนกลางของตนเอง 0.90 การล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ 0.88 การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลในระยะไม่น้อยกว่า 2 เมตร 0.79 การระวังไม่เอามือจับหน้า จมูก ปาก 0.73



ทั้งนี้ การสำรวจตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. - 2 ก.ค. ตามช่วงระยะเวลาผ่อนคลายระยะที่ 2 - ระยะที่ 5 พบว่าพฤติกรรมการป้องกันตนเองโดยรวม มีแนวโน้มลดลง หรือเห็นได้ชัดว่า “การ์ดตก” โดยเฉพาะมาตรการการผ่อนคลายในระยะหลังเป็นกิจการ กิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง คุณหมอจึงย้ำซ้ำให้ทุกคนระวังเรื่องนี้


ในการสำรวจความคิดเห็น สอบถามถึงนโยบายการรับคนไทยกลับจากต่างประเทศ ภายใต้มาตรการกักตัวในพื้นที่ที่รัฐจัดให้ ( State Quarantine )14 วัน ปรากฏว่ามากกว่า 88%สนับสนุน




ส่วนแผนการรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ตามนโยบายทราเวล บับเบิล ( Travel Bubble)หรือการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศไทยกับประเทศที่การติดเชื้อภายในประเทศต่ำ หรือไม่มีการติดเชื้อ ผู้ตอบแบบสอบถาม 45.2 % ไม่สนับสนุน ที่เห็นด้วยมี 37.9% เห็นด้วยอย่างยิ่ง 13.7%



ส่วนการเดินทางนอกกลุ่มทราเวล บับเบิล หรือการท่องเที่ยวระหว่างประเทศไทยกับประเทศที่ยังมีการแพร่ระบาดของเชื้อ (ประเทศอื่น ๆ) มีผู้ไม่สนับสนุนถึง 69.2% ที่สนับสนุนมี 19.1% และผู้สนับสนุนอย่างยิ่งมี 9%


กับคำถามต่อความมั่นใจว่า รัฐบาลจะควบคุมการแพร่ระบาดระลอก 2 ตอบว่า มั่นใจมาก ร้อยละ 14.8 มั่นใจ ร้อยละ 40.5 ไม่มั่นใจนัก ร้อยละ 28.6 ไม่มั่นใจเลย ร้อยละ 10.2 และไม่แสดงความคิดเห็น ร้อยละ 5.9





ด้านการใช้เว็บ  แอปไทยชนะ สแกนเช็กอิน เช็กเอาต์ สำรวจช่วงเดือน มิ.ย.63 จากผู้ตอบแบบสอบถาม 33,559 ราย พบสถานที่ที่ไม่มีแอป ไทยชนะในตลาดสด ร้านในตลาดสดถึง 46.9% ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาเก็ต คอมมูนิตี้มอล 17.1% และกลุ่มที่ต่ำกว่า 15% เป็นร้านขายของนอกห้างฯ ร้านตัดผม เสริมสวยนอกห้างฯ ศาสนสถาน แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ


ประชาชนที่ไปตามสถานที่ต่าง ๆ แต่ไม่ยอมเช็กอิน มี18% ส่วนใหญ่ 22.3% ตอบว่าลืม อีก 21.5 ไม่มั่นใจในความปลอดภัย และอีก 21.1 ระบุว่า ร้านไม่มีคิวอาร์โค้ดให้สแกน ไม่มีสมุดให้จดชื่อ

หรือเท่ากับว่า จำนวนที่ยังละเลยต่อมาตรการเฝ้าระวัง มีอยู่ไม่น้อย




ทางด้านสถานการณ์ต่างประเทศ จำนวนผู้ติดเชื้อของโลกเพิ่มขึ้นภายในวันเดียว 214,892 ราย ยอดสะสมถึง 12,164,173 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเมื่อวานนี้ 5,428 ราย ทำให้ยอดรวมผู้เสียชีวิต 552,029 ราย สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 ของโลก ถึง 3,100,000 กว่าราย มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มวันเดียว 60,000 ราย เสียชีวิต 130,000 กว่าราย รองลงมาคือบราซิล ผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 1,700,000 กว่าราย ผู้ป่วยรายใหม่ 41,000 กว่าราย เสียชีวิต 68,000 กว่าราย อินเดีย ผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 760,000 กว่าราย ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นวันเดียวถึง 25,000 กว่าราย ขณะที่ประเทศเม็กซิโกก็มีผู้เสียชีวิตถึง 32,000 กว่าราย


ส่วนประเทศไทยขณะนี้ลงมาอยู่ในอันดับที่ 99 ของโลกแล้ว




ถึงจะมีระยะการปลอดเชื้อมาแล้วเดือนครึ่ง แต่โลกที่ล้อมประเทศยังเต็มไปด้วยอันตราย ก็ยังเสี่ยงอยู่นะ