"ก้าวไกล"ชี้ พ.ร.บ.คู่ชีวิตตอกย้ำอคติทางเพศในสังคมไทย

2020-07-08 18:15:05

"ก้าวไกล"ชี้ พ.ร.บ.คู่ชีวิตตอกย้ำอคติทางเพศในสังคมไทย

Advertisement

ส.ส. LGBT พรรคก้าวไกลชี้ถ้าร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตผ่านใช้เป็นกฎหมาย จะทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศแปลกและแตกต่างตอกย้ำอคติทางเพศในสังคมไทย

เมื่อวันที่ 8 ก.ค. นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ พร้อมด้วย นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนผู้มีความหลากหลายทางเพศ แถลงกรณีที่ประชุม ครม.ผ่านร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตในวันนี้ ว่าขอให้พี่น้องประชาชนอย่าเกิดความสับสน และขอทำความเข้าใจว่าร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ….เป็นคนละฉบับกับร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งเเละพาณิชย์ มาตรา 1448 (สมรสเท่าเทียม) เพื่อการสมรสเท่าเทียมที่พรรคก้าวไกลเป็นผู้เสนอนั้นมีสาระสำคัญ คือ “คู่ชีวิตไม่เท่ากับสมรสเท่าเทียม” คือ การที่เราแก้ไขสมรสเท่าเทียม คำว่าคู่สมรสนั้น ถูกบัญญัติอยู่แล้วในกฎหมายทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการของราชการ สวัสดิการเอกชน ที่จะให้สิทธิ์กับคำว่าคู่สมรสและการสมรสเท่าเทียมจะปกป้องเเละดูเเลคู่สมรสให้ได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียม เป็นการยืนอยู่อย่างเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายของประเทศ  ทั้งนี้คำว่าคู่ชีวิต ไม่ได้ถูกบัญญัติมีอยู่ในกฎหมายอื่น ๆเป็นคำใหม่ จึงทำให้ พ.ร.บ.คู่ชีวิตไม่สามารถทำให้คู่ชีวิตได้รับการปกป้องดูแลและรับสิทธิ์เหมือนคู่สมรส  การสมรสเท่าเทียม คือ การสร้างความเท่าเทียม สร้างคนให้เท่ากันในสังคม ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ กฎหมายของไทยห้ามแบ่งเเยกดินเเดน เหตุใดจึงมีกฎหมายแบ่งแยกความเป็นมนุษย์

ขณะที่นายธัญญ์วาริน ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตถ้าผ่านและใช้เป็นกฎหมาย จะทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศแปลกและแตกต่างตอกย้ำอคติทางเพศในสังคมไทย เพราะ เมื่อเราต้องการจดเทะเบียนสมรสและได้สิทธิตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมทุกคน แล้วทำไมถึงต้องใช้กฎหมายคนละตัว ซึ่งถ้าใช้สมรสเท่าเทียมจะทำให้คนไทยทุกคน ได้รับสิทธิเท่าเทียมกันในสังคม  ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ…. ผ่าน  ครม. แล้วก็จริง แต่จะต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช2560 ในสภาผู้แทนราษฎร เสียก่อน  จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมแสดงฟังความเห็น ต่อร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งเเละพาณิชย์ มาตรา 1448 “สมรสเท่าเทียม” ที่พรรคก้าวไกลเป็นผู้เสนอ ในเว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตั้งเเต่วันนี้ จนถึงวันที่ 17 ส.ค. 63 เพราะเสียงของประชาชนที่จะเข้าสู่ในสภาผู้แทนราษฎรมีความสำคัญเราในฐานะผู้แทนราษฎรอยากเชิญชวนประชาชนมีส่วนร่วมและมีบทบาทในการแก้ไข ก่อนที่ร่างกฎหมายดังกล่าว จะบรรจุเข้าวาระในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เเละผลักดันใช้เป็นกฎหมาย เพื่อความเท่าเทียมลดความเหลื่อมล้ำในสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์