เข้าพรรษาอย่าลืมโควิด หยุดยาวเข้าที่เสี่ยงระวังเชื้อ

2020-07-03 21:30:47

เข้าพรรษาอย่าลืมโควิด   หยุดยาวเข้าที่เสี่ยงระวังเชื้อ

Advertisement




รายงานการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 วันที่ 3 ก.ค.63 มีผู้ติดเชื้อใหม่ 1 ราย เป็นหญิงไทยวัย 24 ปี กลับจากประเทศบาห์เรน วันที่ 28 มิ.ย.63 เข้าพักในสถานที่ควบคุมโรคแห่งรัฐ ตรวจพบเชื้อวันที่ 1 ก.ค.63


ไม่มีผู้ติดเชื้อจากภายในประเทศติดต่อกันเป็นวันที่ 39




มีผู้ป่วยกลับบ้านเพิ่มอีก 7 ราย ยอดสะสมที่รักษาหาย 3,066 ราย หรือ96.42%ของผู้ป่วยทั้งหมด ยังอยู่ในโรงพยาบาล 56 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ผู้ป่วยสะสม 3,180 ราย


ส่วนสถานการณ์ของโลก ผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 10,970,706 ราย เพิ่มขึ้น 179,437 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 523,171 ราย เพิ่มขึ้น 5,150 ราย โดยสหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วยสะสมเป็นอันดับที่ 1 มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 57,236 ราย รองมาคือบราซิล รัสเซีย และอินเดีย ไทยอยู่อันดับที่ 96 ของโลก ในเอเชียที่ยังพบผู้ป่วยใหม่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ทางด้านโตเกียวพบการระบาดโควิดรอบสอง และเป็นครั้งแรกที่กรุงโตเกียวมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกินกว่า 100 ราย นับตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค.63 จึงเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง สังเกตเป็นพิเศษต่อมาตรการต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจ สังคม การติดต่อเดินทางระหว่างกัน





นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการรณรงค์สุขอนามัยส่วนบุคคล การสวมหน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัย ส่งผลให้การระบาดของโรคอื่น ๆ โดยเฉพาะช่วงเปิดเทอม เช่นโรคมือเท้าปากในเด็ก โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ผู้ปกครองก็ต้องติดตามดูแลเด็กที่ต้องไปโรงเรียนด้วย


ข้อมูลกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แจ้งว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 30 มิ.ย.63 พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 103,234 ราย เสียชีวิต 3 ราย เทียบกับช่วงเดียวกันในปี 62 มีผู้ป่วยสะสม 194,598 ราย เสียชีวิต 15 ราย ส่วนโรคปอดอักเสบพบผู้ป่วย 102,476 ราย เสียชีวิต 70 ราย เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 62 พบผู้ป่วย 124,906 ราย เสียชีวิต 98 ราย แสดงให้เห็นว่า มาตรการป้องกันโควิด 19 มีประโยชน์ทำให้ปัญหาสุขภาพ และโรคระบบทางเดินหายใจลดลงอย่างเห็นได้ชัด



น.พ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ช่วงเทศกาลเข้าพรรษาที่มีวันหยุดติดต่อกัน 4 วัน ระหว่างวันที่ 4-7ก.ค.63 ทาง ศบค.มีความห่วงใยต่อกิจการ/กิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงหรือสีแดง เช่น ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ได้รับการผ่อนคลายระยะที่ 5 จึงขอความร่วมมือคนที่เข้าไปเที่ยว ใช้ชีวิตอย่างมีสติ เที่ยวอย่างปลอดภัย โดยระบุว่า พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.สส.หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง(ศปม.) แจ้งข้อความให้เน้นย้ำเรื่องผิวสัมผัสร่วมกัน มีความสำคัญสูง ขอความร่วมมือไม่ดื่มจากแก้วเดียวกัน สูบบุหรี่ด้วยกัน เพราะอาจทำให้ติดเชื้อ ขอให้ปฏิบัติตัวเหมือนระยะ 1-4 ที่ผ่านมา การสวมหน้ากากมีความจำเป็นในช่วงที่ยังไม่มีวัคซีน





การลงทะเบียนหรือสแกนคิวอาร์โค้ด เช็กอิน เอาต์ ผ่านแพลตฟอร์ม หรือแอปพลิเคชันไทยชนะในการเข้าสถานที่ต่างๆ ก็มีความสำคัญ เพื่อความสะดวก รวดเร็วในการติดตามแก้ไข หากเกิดการติดเชื้อขึ้นที่ใดที่หนึ่ง



รายงานล่าสุด การใช้งาน www.ไทยชนะ.com ตั้งแต่เริ่มโครงการ มีผู้ใช้แล้ว 33,275,657 คน ร้านค้าลงทะเบียน 259,260 ร้าน สัดส่วนการเช็คอิน/เช็คเอาท์ ผ่านแพลตฟอร์มไทยชนะ 54.2 % ที่ใช้ผ่านแอปฯไทยชนะ 84.9 %


แอปฯไทยชนะ มีการดาวน์โหลด 571,990 คน




การให้ความร่วมมือของคนไทยในการป้องกันเชื้อ บวกกับความสามารถของคุณหมอและความเข้มแข็งของ ศบค. ที่ส่งผลให้การป้องกันโรคทำได้ผลดี จนไม่มีผู้ติดเชื้อจากภายในประเทศถึง 39 วัน มีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ จนถึงระยะที่ 5 แต่ประชาชนและรัฐบาล ก็ต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจ เนื่องจากรายได้สำคัญของประเทศ จากการท่องเที่ยวชะงักไปแล้ว3-4 เดือน โดย 6 เดือนที่เหลือในปีนี้ ก็ยากจะทำให้สิ่งที่เสียไปกลับคืนมา ด้วยปัญหาทั้งการระวังการติดเชื้อที่อาจเกิดจากนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามา ต้องวางระบบ มาตรการรับมือ ป้องกัน ขณะที่กลุ่มประเทศที่เคยเป็นเป้าหมายส่งนักท่องเที่ยวเข้ามาก็ยังติดขัดกับการจัดการการติดเชื้อในระดับรุนแรง หรือยังต้องเฝ้าระวัง




กลุ่มเป้าหมายจากต่างประเทศ ประเภทการดูแลสุขภาพทางการแพทย์ Medical and Wellness Program จึงเป็นหลักที่จะสร้างประโยชน์ทางการท่องเที่ยว โดยระยะแรกให้เข้ามาตั้งแต่เดือน ก.ค.63 หากไปได้ดี ก็จะระยะที่สองในเดือน ส.ค.63และระยะสาม เดือน ก.ย.63


โฆษก ศบค. ระบุว่า ผู้ที่เข้ามารักษา ในรูปแบบ Medical and Wellness Program ที่โรงพยาบาลของรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นคู่สัญญา ต้องกักตัวให้มั่นใจว่า จะไม่นำเชื้อออกไปแพร่กระจายในประเทศ โดยมีโรงพยาบาลเอกชนสมัครเป็นสถานกักกัน/โรงพยาบาลทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine) แล้ว 62 แห่ง การเดินทาง ต้องโดยเครื่องบินเท่านั้น ต้องมีใบอนุญาต Certificate of Entry (COE) ที่ออกโดยสถานเอกอัครราชทูต ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 1,700 คน จาก 17 ประเทศ 



คุณหมอย้ำว่า กระทรวงสาธารณสุขจะตรวจสอบจำนวนเตียง บุคลากร ไม่ให้เกิดการแย่งใช้ทรัพยากรซึ่งกันและกัน โดยหวังจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการ Medical and Wellness Program โดยยังไม่อนุญาตชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวเมืองไทยในขณะนี้ โดยกล่าวสรุปว่า สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เป็นปรากฏการณ์ใหม่ ต้องช่วยคิด ช่วยมองกิจกรรมที่เหมาะสมกับช่วงเวลา เหมาะกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำหรับคนไทยทุกคน ขอให้มั่นใจว่ามีการดูแลเรื่องปากท้องและสุขภาพไปด้วยกันได้