"สุภิญญา" จี้ กสทช. ตรวจสอบรายการผีผิด ก.ม.หรือไม่

2020-07-04 05:00:36

"สุภิญญา" จี้ กสทช. ตรวจสอบรายการผีผิด ก.ม.หรือไม่

Advertisement

"สุภิญญา" แนะ กสทช. ควรตรวจสอบรายการผี ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ควรเข้ามากำกับเนื้อหารายการ ต้องนำเสนอบนพื้นฐานข้อเท็จจริง พิสูจน์ตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ได้ ห่วงละเมิดจริยธรรม 

เมื่อวันที่ 3 ก.ค. น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้สัมภาษณ์กับนิว18 ถึงกรณีกระแสวิพากวิจารณ์รายการเกี่ยวกับผีที่เป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ ว่า ถือเป็นหน้าที่ของ กสทช. ที่ต้องเข้ามาตรวจสอบ​ใน 2 ประเด็นหลัก​คือขัดต่อกฎหมายหรือไม่​ หรือผิดกฎหมายข้ออื่นหรือไม่​ ซึ่งจะได้นำเรื่องมาสู้ในเรื่องของการกำกับดูแลของ กสทช.ตามมาตรา 37  ซึ่งให้อำนาจ กสทช.ในการกำกับดูแล​ ที่จะมีผลกระทบต่อศีลธรรมของสังคม​ เนื้อหาของรายการก็จะทำให้ดูในเรื่องของบาป​ บุญ​ คุณ​ โทษ​ เพราะว่าไม่ใช่รายการบันเทิง​ แต่คนส่วนใหญ่อาจเข้าใจว่าเป็นรายการเรียลลิตี้​ ซึ่งรายการนี้ก็จะต้องมีหลักฐาน​ที่พิสูจน์​ได้​ และยิ่งในเรื่องของประวัติศาสตร์​ แต่ถ้าจะทำรายการแนวนี้ก็จะต้องนำผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ​และมีความรู้เข้ามาให้คำแนะ​นำด้วย​ ดีกว่าเข้าไปทางเชิงไสยศาสตร์​ หรือเข้าใจผิด​ และมีอันตรายเกี่ยวกับคน เพราะเราไม่รู้ว่าคนดูแต่ละคนมีพื้นฐาน​อย่างไร​ ถ้าเชื่อและเขาเอาไปทำตาม​ หรือตีความผิด​ ก็จะเป็นอันตรายได้​

น.ส.สุภิญญา กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นที่สองคือ ต้องดูว่าผิดกฎหมายอื่นหรือไม่​ อาจมีในเรื่องของการเรี่ยไรเงิน​ ทำบุญ​ บริจาคด้วย​ ซึ่งต้องดูว่าเป็นวิธีการโปร่งใสหรือไม่ มีผลต่อผู้บริโภคหรือไม่ ​ ซึ่ง กสทช.ควรจะต้องเชิญ​หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล​ ถ้าเกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่น กสทช.ก็สามารถสั่งยุติหรือลงโทษอย่างอื่นก็ได้​ ส่วนในเรื่องของบทลงโทษ​ถ้าไม่ร้ายแรงมากก็อาจตักเตือนก่อน​ แต่ถ้าร้ายแรงมากก็อาจสั่งให้ปิดรายการได้  ทั้งนี้  กสทช.ควรจะต้องลุกขึ้นมาดูในเรื่องของรายการ​ ลุกขึ้นมาตักเตือนรายการหรือปรับเงิน​ แต่ไม่ถึงขั้นสั่งปิดรายการ​ ในรายการเองก็จะต้องมีการปรับตัว​ แต่ทุกวันนี้เหมือนไม่มีการกำกับดูแล​

น.ส.สุภิญญา ยังกล่าวอีกว่า หากจะทำในแนวเรียลลิตี้และมีการยืนยันว่ามีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์​ แม้มีการพาดพิงถึงคนในประวัติศาสตร์ซึ่งเราสามารถทำได้​ ถ้านำไปใช่ในเรื่องของวิชาการ​ ก็ต้องมีอะไรมาอ้างอิง​ไม่ใช่กล่าวขึ้นมาลอยๆ​ เพราะหากกล่าวขึ้นมาลอยๆก็จะผิดหลักเรื่องข้อเท็จจริง​ ทั้งนี้มีข่าวสารมากมาย​ ข่าวจริงบ้างข่าวปลอมบ้าง​ ในเรื่องของข่าวลวง​ ข้อมูลลวง​ ถ้าเป็นสื่อหลักควรจะต้องตรวจสอบให้ชัด เพราะถ้าเด็กเอาไปดูและเกิดเชื่อในทางไสยศาสตร์​เด็กก็จะขาดในเรื่องของเหตุผล​ เนื่องจากปัจจุบันนี้มีรายการทำนองนี้เยอะมาก​ และยิ่งเป็นในเรื่องของโรคระบาดด้วยก็จะต้องมีการเสวนาในเรื่องของจริยธรรมสื่อเพื่อจะต้องตรวจสอบความจริงก่อนนำเสนอ​ ป้องกันประชาชน​ในเรื่องของความเชื่อด้วย​ เพราะสื่อมวลชนในยุคนี้ต้องอยู่กับวิทยาศาสตร์ด้วย ต้องมีการพิสูจน์​ ตรวจสอบแล้วจึงจะนำเนอได้​ ส่วนรายการต้องอยู่ด้วยเหตุและผลแต่ตอนนี้กลายเป็นการแข่งขันด้วยเรตติ้ง​ ถ้าเอาเรื่องคนตายมาอาจไปล่วงล้ำสิทธิของคนตายด้วยเช่นกัน​ ครอบครัวผู้วายชนม์ก็อาจลุกขึ้นมาแก้ต่างไม่ได้​ ดังนั้นการนำเสนอก็จะต้องไม่ลํ้าเส้นจนเกินไป​ บางช่องอาจทำแล้วดี ก็ต้องขึ้นอยู่กับการดูแล​ เมื่อเป็นสื่อมวลชนอย่างน้อยก็ต้องอยู่บนหลักของข้อเท็จจริง​ ไม่ว่าจะเป็นรายการในแนวไหนก็ตาม