เหยื่อเหมืองหยกถล่มในเมียนมาพุ่งเป็นอย่างน้อย 162 ศพ

2020-07-03 07:20:57

เหยื่อเหมืองหยกถล่มในเมียนมาพุ่งเป็นอย่างน้อย 162 ศพ

Advertisement

ความคืบหน้าเหตุการณ์เหมืองหยกถล่มในเมียนมา ล่าสุดเจ้าหน้าที่กู้ภัยสามารถกู้ศพผู้เสียชีวิตได้แล้วอย่างน้อย 162 คน และบาดเจ็บอีกหลายสิบคน

กระทรวงสารสนเทศเมียนมา แถลงในวันศุกร์ว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุดินถล่มครั้งใหญ่ในบริเวณเหมืองหยกของหมู่บ้านมาเต มู เมืองผะก่าน รัฐคะฉิ่น ทางเหนือสุดของเมียนมาในวันพฤหัสบดี เพิ่มเป็นอย่างน้อย 164 คนแล้ว และผู้บาดเจ็บอยู่ที่ 31 คน เหตุเศร้าสลดเกิดขึ้นเมื่อฝนตกหนักในช่วงมรสุม ทำให้ดินถล่มในเวลาประมาณ 08.00 น.ของวันพฤหัสบดี ตามเวลาท้องถิ่น ตำรวจท้องถิ่นให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า เป็นที่น่าหวาดกลัวว่ามีคนงานหลายร้อยคนที่ถูกดินถล่มฝังกลบในช่วงเวลาทำงานดังกล่าว โดยยังไม่มีรายงานตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งหมดอย่างแน่ชัด แต่เจ้าหน้าที่ได้เร่งมือดำเนินการกู้ภัยแล้ว

ข้อมูลเบื้องต้นจากกองทัพ ระบุว่า กำแพงหน้าผาสูง 304.8 เมตร พังถล่มลงมาสู่บ่อแร่ที่เหมืองแห่งหนึ่งที่ระงับกิจการแล้ว ขณะเดียวกัน บริษัทอัญมณีพม่า (Myanmar Gem Enterprise) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ออกคำสั่งให้บรรดาบริษัทผู้ทำเหมืองหยก ระงับการประกอบกิจการชั่วโคราวในพื้นที่ดังกล่าวเป็นเวลา 3 เดือนแล้วระหว่างช่วงฤดูมรสุม เริ่มต้นในเดือนนี้




ขณะงานกู้ภัยและช่วยเหลือถูกระงับไว้ชั่วคราว เนื่องด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย โดยตำรวจในที่เกิดเหตุกล่าวว่า ในช่วงเที่ยงวัน เจ้าหน้าที่ได้กู้ซากศพออกมาทั้งหมด 162 คนแล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย การดำเนินการค้นหาเป็นไปอย่างค่อนข้างยากลำบาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถใช้อุปกรณ์ขนาดใหญ่สำหรับปฏิบัติการกู้ภัยที่นี่ได้

อู่ มิน ธู ผู้อำนวยการบริหารของบริษัทอัญมณี ภายใต้การดูแลของประทรวงทรัพยากรธรรมชาติและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าวกับซินหัวว่า มันอันตรายมากที่จะประกอบกิจการเหมืองหยกในพื้นที่ต่าง ๆ ในช่วงฤดูมรสุมที่มีฝนตกหนักต่อเนื่อง ซึ่งจากคำสั่งของบริษัทอัญมณีเมียนมา การระงับกิจการเหมืองหยกหลายแห่งชั่วคราวจะมีผลบังคับจากวันที่ 1 กรกฎาคม ถึง 30 กันยายน



ทั้งนี้ เหตุดินถล่มที่อันตรายถึงชีวิตเกิดขึ้นบ่อยครั้งในรัฐคะฉิ่น หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ดินแดนแห่งหยก’ โดยเฉพาะในพื้นที่เหมืองผะก่าน ชาวบ้านจำนวนมากเลี้ยงชีพด้วยการทำงานในเหมืองหยกของภูมิภาค อีกทั้งเหตุดินถล่มส่วนใหญ่เกิดจากเหตุพังทลายบางส่วนของหางแร่และเขื่อน

ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤศจิกายน 2558 เกิดเหตุดินถล่มครั้งใหญ่ในภูมิภาคแห่งนี้ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 116 ราย