"บิ๊กตู่"แถลงงบปี 64 วงเงิน 3.3 ล้านล้าน มุ่งฟื้นฟู ศก. คุณภาพชีวิตหลังโควิด

2020-07-01 12:10:53

"บิ๊กตู่"แถลงงบปี 64 วงเงิน 3.3 ล้านล้าน มุ่งฟื้นฟู ศก. คุณภาพชีวิตหลังโควิด

Advertisement

"บิ๊กตู่"แถลงงบปี 64 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท  มีเป้าหมายเพื่อให้การพัฒนาประเทศก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่ง โดยให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่รัฐสภา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้แถลงต่อสภาฯว่า ครม.ขอเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท ต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยใช้งบประมาณเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันนโยบายและมาตรการด้านต่าง ๆ เพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ และนโยบายสำคัญของรัฐบาลสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสบผลสำเร็จ เป็นรูปธรรม เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยรัฐบาลได้ดำเนินการให้สอดคล้องกันทั้งเงื่อนไขทางเศรษฐกิจภายในประเทศและผลกระทบจากภายนอก รวมทั้งผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่รัฐบาลประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2563 คาดว่าจะปรับตัวลดลงในช่วงร้อยละ -6.0 – -5.0 โดยมีสาเหตุหลักมาจากสงครามทางการค้าและจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการดำเนินมาตรการควบคุมและจำกัดการเดินทางของประเทศต่าง ๆ ทำให้เศรษฐกิจโลก ปริมาณการค้าโลก และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับตัวลดลงรุนแรง ซึ่งส่งผลให้แรงขับเคลื่อนทั้งจากอุปสงค์ต่างประเทศและในประเทศปรับตัวลดลง  แนวโน้มการลดลงของระดับความรุนแรงของการระบาดภายในประเทศคาดว่าจะทำให้ภาครัฐสามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ ได้ถึงระดับใกล้เคียงภาวะปกติภายในไตรมาสที่สอง และการลดลงของความรุนแรงของการระบาดในต่างประเทศจะทำให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ สามารถผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ จนถึงระดับใกล้เคียงกับภาวะปกติได้ภายในไตรมาสที่สาม ในขณะที่มาตรการควบคุมด้านการท่องเที่ยวคาดว่าจะมีการผ่อนคลายภายในไตรมาสที่สี่ ภายใต้แนวโน้มดังกล่าวคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีปรับตัวลดลงในอัตราที่ช้าลง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกและการเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของภาคการท่องเที่ยว แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ และปัจจัยสนับสนุนจากการผลิตและการส่งออกสินค้าที่ได้รับผลประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้าและการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 4.0 – 5.0 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเทียบกับปี 2563  การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูงและมีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ หากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีความยืดเยื้อและมาตรการควบคุมของประเทศต่าง ๆ ขยายระยะเวลาออกไป หรือปัญหาในภาคการผลิตลุกลามไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเงินการคลังในต่างประเทศ รวมทั้งในกรณีที่มาตรการกีดกันทางการค้าทวีความรุนแรงมากขึ้น ในขณะเดียวกัน มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ในกรณีที่การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สามารถยุติลงได้อย่างสิ้นเชิงภายในไตรมาสแรกของปี 2564

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า  ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 รัฐบาลประมาณการว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ รัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น รวมสุทธิทั้งสิ้น จำนวน 2,798,000 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.2 จากปีก่อน และหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 121,000 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2,677,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณมีวงเงินงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในการดำเนินภารกิจตามนโยบายของรัฐบาลและหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างเหมาะสมเพียงพอ และไม่ส่งผลต่อหนี้สาธารณะ จึงกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 3.3 ล้านล้านบาท เป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุลโดยกำหนดรายได้สุทธิ จำนวน 2,677,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 623,000 ล้านบาท รวมเป็นรายรับทั้งสิ้น 3,300,000 ล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่า

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สำหรับหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มี.ค.2563 มีจำนวน 7,018,731.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 60 โดยหนี้สาธารณะที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาลซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินโดยตรง และการค้ำประกันเงินกู้โดยรัฐบาล มีจำนวนทั้งสิ้น 6,517,617.1 ล้านบาท ฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 ก.ย. 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 512,955.1 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมามีความผ่อนคลายมากขึ้น เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 มีแนวโน้มติดลบตามราคาพลังงานและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ระบบการเงินมีความเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ลดลงคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงมีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม และพฤษภาคม 2563 สู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 0.50 เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ สนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ และลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้เร่งดำเนินมาตรการทางการเงินอื่น ๆ ควบคู่กับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาทิ การปรับลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินชั่วคราวจากร้อยละ 0.46 เป็นร้อยละ 0.23 เพื่อให้สถาบันการเงินปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มเติมได้ทันที มาตรการช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจ ทั้งการเลื่อนการชำระหนี้และการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) เพื่อลดภาระหนี้และช่วยเสริมสภาพคล่องให้ผู้ได้รับผลกระทบผ่านพ้นช่วงเวลายากลำบากนี้ไปได้ รวมถึงมาตรการสนับสนุนเสถียรภาพตลาดการเงินไทย โดยเฉพาะในตลาดตราสารหนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าตลาดการเงินมีเสถียรภาพและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในภาวะที่นักลงทุนกังวลกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  สำหรับฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 30 เม.ย. 2563 มีจำนวน 235,708.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นประมาณ 3.8 เท่า ของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้จัดทำขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อให้การพัฒนาประเทศก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่ง โดยให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ควบคู่ไปกับส่งเสริมการสร้างรายได้ของประชาชนเพื่อกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง   รัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจนว่ากระทรวงและหน่วยรับงบประมาณต่าง ๆ จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12  นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนปฏิบัติราชการของกระทรวง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กรอบแนวคิดการพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 และนโยบายสำคัญของรัฐบาล รวมทั้งการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการพัฒนาและจัดสรรทรัพยากรของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ความเป็นธรรมทางสังคม เสถียรภาพและความยั่งยืนทางการคลัง

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ความจำเป็นและภารกิจของหน่วยรับงบประมาณ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณและผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการภาครัฐ โดยกำหนดแนวทางการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่สำคัญ ดังนี้  1. นำยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติ 2. ให้ความสำคัญกับการดำเนินภารกิจที่สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยเฉพาะการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต แก้ไขปัญหาของประชาชน และวางรากฐานการพัฒนาประเทศสู่อนาคต รวมทั้งส่งเสริมกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนอย่างเป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้  3. ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพทางการคลังร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเพิ่มศักยภาพการถ่ายโอนภารกิจ 4. เพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำงบประมาณให้ครอบคลุม 5. ดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งกฎหมาย ระเบียบ และมติ ครม.ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีอย่างครบถ้วน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้ จำนวน 433,279.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.1 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ  รายจ่ายงบกลาง จำนวน 139,825.6 ล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรงและภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ รวมทั้งบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตลอดจนชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ  การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ จำนวน 293,454.3 ล้านบาท เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 99,000.0 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม จำนวน 194,454.3 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐให้เกิดเสถียรภาพทางการคลังและการเงินรวมทั้งการรักษาวินัยทางการคลัง