ตุลาคมคิววัคซีนฉีดคน ลิงทดลองมีภูมิฯปลอดภัย

2020-06-22 21:35:24

ตุลาคมคิววัคซีนฉีดคน ลิงทดลองมีภูมิฯปลอดภัย

Advertisement




รายงานการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย วันที่ 22 มิ.ย.63 พบเฉพาะในสถานที่ควบคุมโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) 3 ราย ส่วนในประเทศไม่พบผู้ติดเชื้อ เป็น 0 ติดต่อกันเป็นวันที่ 28


ผู้ติดเชื้อที่พบ เดินทางกลับจากประเทศอินเดีย 3 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 11, 21 และ 34 ปี มาถึงวันที่ 15มิ.ย.63 ตรวจพบเชื้อวันที่ 20มิ.ย.63 ทุกรายไม่มีอาการ และมีรายงานว่า ผู้เดินทางมาเที่ยวบินเดียวกัน ตรวจพบในวันที่ 18 มิ.ย.63 โดยผู้เดินทางกลับจากอินเดียมียอดสะสม 2,665 ราย พบเชื้อแล้ว 14 ราย




ทั้งนี้ ผู้ป่วยสะสมของประเทศคือ 3,151 ราย อยู่ในสถานที่ควบคุมโรคที่รัฐจัดให้ 214 ราย หายป่วยเพิ่มอีก 4 ราย รวม 3,022 ราย ไม่มีเสียชีวิตเพิ่ม และรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 71 ราย





การไม่มีผู้ติดเชื้อจากในประเทศติดต่อ 28 วัน ถือเป็นช่วงสำคัญของการควบคุมโรคโควิด-19 ในไทย เพราะหลักการของโรคระบาด ถือว่าพื้นที่ใดจะเป็นเขตปลอดโรค หรือไม่มีโรค กำหนดเวลา 2 เท่าของระยะฟักตัว เช่น โรค SARS ระยะฟักตัว 10 วัน ก็ให้เวลาไม่มีโรคในพื้นที่ 20 วัน สำหรับโควิด-19 มีระยะฟักตัว 14 วัน ระยะ 2 เท่า ของเวลาฟักตัว คือ 28 วัน เมื่อครบก็ถือเป็นเขตปลอดโรคโควิดแล้ว



ในเวลาเดียวกัน ข้อมูลระดับโลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 9,046,067 ราย เพิ่มขึ้นวันเดียว 130,204 ราย เสียชีวิตไปแล้ว 470,703 ราย คิดเป็น 5.2% สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสะสมอันดับ 1 ของโลก ประมาณ 2,300,000 กว่าราย รองลงมา บราซิล 1,080,000 กว่าราย รัสเซีย 580,000 กว่าราย อินเดีย 420,000 กว่าราย สถานการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นคนละทวีป เป็นตัวอย่างการแพร่กระจายเชื้อ ที่ไปเร็วจนตัวเลขผู้ติดเชื้อขึ้นไปแตะ 9,000,000 ราย นอกจากนี้ ประเทศในกลุ่ม 11 – 20 อันดับแรก พบว่าเม็กซิโก วันเดียวเพิ่มขึ้น5,300 ราย ปากีสถาน เพิ่มขึ้น 4,900 ราย ซาอุดีอาระเบีย 3,300 ราย บังกลาเทศ 3,500 ราย แอฟริกาใต้ 4,600 ราย ตัวเลขที่ขึ้น 4 หลัก ทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นไปด้วยเช่นกัน


นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า ถึงผู้ป่วยในประเทศเป็น 0 ติดต่อกัน 28 วัน ก็เพียงสบายใจ วางใจไม่ได้ ต้องมีการดูแลต่อไป เพราะประเทศต่าง ๆ ยังพบการติดเชื้อมากกว่าแสนรายต่อวัน ยังไม่สามารถผ่อนคลายทุกมาตรการตามปกติได้ โดยคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการ กำลังหารือการแบ่งกลุ่มการเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยเป็น 2 กลุ่ม



กลุ่มแรก เป็นนักธุรกิจ นักลงทุน แรงงานฝีมือ ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจต่าง ๆ คนต่างด้าวที่มีครอบครัวเป็นคนไทย คนต่างด้าวที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย และกลุ่มนักท่องเที่ยวทางด้านการแพทย์ (Medical and Wellness Tourism) กลุ่มนี้ต้องเข้าสู่กระบวนการ State Quarantine 14 วันเพื่อสังเกตอาการ ส่วนกลุ่มที่ 2 การทำ Travel Bubble จะผ่อนผันไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการ State Quarantine 14 วัน ซึ่งเป็น นักธุรกิจ นักลงทุน แขกของรัฐบาล แขกของส่วนราชการ และนักท่องเที่ยวที่เดินทางตามโครงการ Travel Bubble ที่เข้ามาระยะสั้น ขณะนี้ อยู่ในขั้นเตรียมเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ให้ความเห็นชอบ



วันเดียวกับที่ไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศ 28 วัน ด้านการวิจัยเตรียมผลิตวัคซีนโรคโควิด-19 แบบ mRNA ที่ก้าวหน้าถึงขั้นฉีดวัคซีนต้นแบบให้กับลิงทดลอง ก็ครบรอบ 1 เดือนจากการฉีดเข็มแรก (23พ.ค.63) และฉีดเข็มที่สอง พร้อมกับรายงานผลการทดสอบระยะแรก


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) แถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์ ไปยังศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด mRNA โดยระบุว่า ) ขณะนี้ลิงทุกตัวมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีผลข้างเคียงจากวัคซีน เมื่อเจาะเลือดทดสอบการสร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี ก็มีข่าวดี ลิงที่ได้รับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับที่น่าพอใจ ดังนั้นทีมนักวิจัย จึงเดินหน้าต่อตามแผน โดยฉีดวัคซีนกระตุ้นเป็นเข็มที่สอง หากเป็นไปตามที่คาด จะทดสอบในมนุษย์ได้ประมาณเดือนต.ค.ถึงเดือน พ.ย. 63 ตามแผนการพัฒนาวัคซีนโรคโควิด





ศ.ดร.สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ ผอ.ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ลิงทุกตัวหลังจากฉีดวัคซีนโดสต่ำและสูงไปแล้ว 15 เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (ไม่ได้ฉีดวัคซีน) ไม่พบความผิดปกติในการทำงานของระบบการหายใจ มีความปลอดภัยต่อระบบการหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือดก็ไม่พบความผิดปกติ ทั้งอัตราการเต้นและเสียงการเต้น แสดงถึงความปลอดภัย การทำงานของระบบสมองและประสาท การเคลื่อนไหวของแขนขา การควบคุมท่าทาง การมองเห็น การตอบสนองต่อสิ่งเร้าและอุณหภูมิร่างกายก็เป็นปกติ แสดงถึงความปลอดภัยต่อระบบสมองและประสาท


รายงานแจ้งว่า รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาวัคซีนในประเทศ ด้วยเป้าหมายให้คนไทยได้ใช้วัคซีนโควิด-19เป็นลำดับแรกๆ อย่างรวดเร็วและเพียงพอ โดยวางแนวทางไว้ 3 ประการ คือ 1.สนับสนุนวิจัยและนวัตกรรมในประเทศ 2.ร่วมมือกับนานาชาติในการพัฒนา 3.จตุรภาคีกับผู้ผลิตในระดับโลก


เท่ากับว่าการจัดการปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ของไทย คืบหน้ามาไกลไม่น้อยหน้าใคร ด้านหนึ่ง ลดจำนวนผู้ติดเชื้อจากภายในประเทศจนเป็น 0 ติดต่อกัน 28 วัน พร้อมกับคลายล็อก มาตรการควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาดมาแล้ว 4 ระยะ และการพัฒนาวัคซีน ทั้งการวิจัยเอง ร่วมมือกับนานาชาติ และสุดท้ายอาจสั่งนำเข้ามาใช้หากการพัฒนาเองไม่เพียงพอ


แต่ยังต้องตั้งอยู่บนความไม่ประมาท การ์ดไม่ตก ยื้อไม่ให้ระลอกสองเกิดได้โดยง่าย