"กลาโหม"เปิดกว้างพร้อมรับพลเรือนเข้าเป็น ขรก.

2020-06-22 15:55:34

"กลาโหม"เปิดกว้างพร้อมรับพลเรือนเข้าเป็น ขรก.

Advertisement

"กลาโหม" เปิดกว้างเตรียมรับพลเรือนเข้าเป็น “ขรก.พลเรือน​กลาโหม” เริ่มปีงบประมาณ 2564

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. มีรายงานจากกระทรวงกลาโหม ว่า กระทรวงกลาโหม เตรียมเปิดรับข้าราชการพลเรือน​กลาโหม ในปีงบประมาณ 2564 โดยจะเปิดรับให้รับพลเรือนเข้ามาทำงานในกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีลักษณะคล้ายข้าราชการพลเรือน เพียงแต่ไม่มียศ ซึ่งจะช่วยลดจำนวนข้าราชการทหาร ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิรูปกองทัพ โดยกลุ่มงานที่เปิดรับมีทั้งสิ้น 11 กลุ่มงาน ประกอบด้วย

1.บริหารทรัพยากร​บุคคล



2.การแพทย์
3.นักวิชาการ นักเทคนิค อาจารย์ นักอุตุนิยมวิทยา​ นักแผนที่
4.การเงินบัญชี งบประมาณ
5.เทคโนโลยีสารสนเทศ​ การสื่อสาร


6.กฎหมาย

7.ประชาสัมพันธ์​และสวัสดิการ
8.ธุรการ เอกสาร
9.แผนและนโยบายระดับยุทธศาสตร์
10.การข่าวระดับยุทธศาสตร์
11.ด้านอื่นๆ ที่มีความสำคัญให้เข้ากับนโยบาย



ทั้งนี้กระทรวงกลาโหม จะเปิดให้มีการสอบแข่งขัน โดยจะพิจารณาจากคะแนนสอบ ส่วนผู้ที่มีปริญญาจะ​ต้องสมัครให้ตรงกับสาขาที่เปิดรับตำแหน่งเท่านั้น ขณะเดียวกันการคัดเลือกในกรณีตำแหน่งที่ว่างไม่มีคนสอบทั้งระดับปฏิบัติการและผู้ทรงคุณวุฒิ​ ก็จะคัดมาจากกลุ่มคนที่ได้ทุนจากรัฐบาล เรียนดีเด่น หรือคนที่มีความรู้ประสบการณ์​การทำงานมาก่อน ส่วนเหตุผลที่เปิดรับข้าราชการพลเรือน​กลาโหม​ ก็เพื่อลดการใช้งบประมาณของกองทัพด้านกำลังพล โดยรับพลเรือนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป โดยเมื่อแรกเริ่มเข้าทำงาน จะมีชั้นยศที่ไม่เท่ากันเพราะขึ้นอยู่กับการวุฒิการศึกษา เนื่องจากรับสมัครทั้งวุฒิปริญญาตรีขึ้นไป และต่ำกว่าระดับปริญญาตรี จากนั้นจะเลื่อนขั้นตามลำดับ แต่จะไหลลื่นกว่าการเป็นทหาร โดยการเลื่อนขั้นแต่ยศร้อยตรีไปจนถึงยศพันโท จะใช้เวลาเพียง 6 ปีเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีการออกแบบเครื่องแบบข้าราชการพลเรือนกลาโหมทั้งชายและหญิง รวมทั้งเครื่องแบบปฎิบัติราชการ เครื่องแบบสนาม และเครื่องแบบอื่นๆ โดยกำหนดให้เป็นสีกากีเช่นเดียวกับข้าราชการพลเรือนเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน พร้อมมีเครื่องหมายสังกัด เครื่องหมายรูปตราคชสีห์ที่คอเสื้อข้างขวา และติดเครื่องหมายสังกัดส่วนราชการที่คอเสื้อข้างซ้าย โดยก่อนหน้านี้ ครม.มีมติกำหนดให้ตำแหน่งข้าราชการพลเรือนกลาโหม มีดังนี้

1.ตำแหน่งประเภทบริหาร ได้แก่ ตำแหน่งที่ปฏิบัติงานบริหารราชการในฐานะหัวหน้าส่วนราชการ รองหัวหน้าส่วนราชการ และตำแหน่งอื่นตามที่กลาโหมกำหนด
2.ตำแหน่งประเภทอำนวยการ ได้แก่ ตำแหน่งที่ปฏิบัติงานด้านอำนวยการ ปฏิบัติราชการในฐานะหัวหน้า-รองหน่วยงานในสังกัดส่วนราชการ


3.ตำแหน่งประเภทวิชาการ ได้แก่ ตำแหน่งที่จำเป็นต้องใช้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตามที่กลาโหมกำหนด เพื่อปฏิบัติงานในหน้าที่ของตำแหน่งนั้น
4.ตำแหน่งประเภทการสอนหรือวิจัย ได้แก่ ตำแหน่งที่จำเป็นต้องใช้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตามที่กลาโหมกำหนด เพื่อปฏิบัติหน้าที่ด้านการสอนหรือวิจัยในสถาบันการศึกษาสังกัดกลาโหม
5.ตำแหน่งประเภททั่วไป ได้แก่ ตำแหน่งที่ไม่ใช่ตำแหน่งตาม ข้อ1-4 ตามที่กลาโหมกำหนด

ส่วนการกำหนดให้ระดับตำแหน่งข้าราชการพลเรือนกลาโหม มีดังนี้
1. ตำแหน่งประเภทบริหาร มีระดับต้น และสูง
2. ตำแหน่งประเภทอำนวยการ มีระดับต้น และสูง
3. ตำแหน่งประเภทวิชาการ มีระดับปฏิบัติการ ชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ และทรงคุณวุฒิ



สำหรับตำแหน่งประเภทการสอน หรือวิจัย มีดังนี้
1. ประเภทครู (ปฏิบัติหน้าที่ด้านการสอนในสถาบันการศึกษาสังกัด กห.) มีระดับครู ครูชำนาญการ ครูชำนาญการพิเศษ ครูเชี่ยวชาญ และครูเชี่ยวชาญพิเศษ
2. ประเภทคณาจารย์ (ปฏิบัติหน้าที่ด้านการสอนหรือวิจัยในสถาบันการศึกษาสังกัด กห. ที่ให้การศึกษาหรือจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับปริญญา) มีระดับอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์)
3. ตำแหน่งประเภททั่วไป มีระดับปฏิบัติงาน ชำนาญงาน อาวุโส และทักษะพิเศษ