'วันผู้ลี้ภัยโลก' ตามรอย 'โรฮีนจา' มุสลิมไร้สัญชาติ

2020-06-21 17:15:20

'วันผู้ลี้ภัยโลก'   ตามรอย 'โรฮีนจา' มุสลิมไร้สัญชาติ

Advertisement

ย้อนกลับไปในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 หนึ่งวันหลังจากคณะกรรมการที่ปรึกษา ซึ่งนำโดยนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ผ่านหลักฐานไปยังรัฐบาลเมียนมา

กลุ่มหัวรุนแรงโรฮีนจา (โรฮีนจา อ่านตามการบัญญัติของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ซึ่งบางที่อ่านโรฮิงญาก็มี) ก็ก่อเหตุโจมตีฐานที่มั่นตำรวจและค่ายทหารในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของเมียนมา มีผู้เสียชีวิตประมาณ 12 คน จุดชนวนให้กองทัพเมียนมาตอบโต้ด้วยการไล่ล่าก่อความรุนแรงและวางเพลิง ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อขับไล่ชาวโรฮีนจา

หนึ่งวันหลังความรุนแรงปะทุขึ้น ชาวโรฮีนจาหลายร้อยคน เริ่มหลบหนีข้ามพรมแดนเข้าไปในบังกลาเทศ ใกล้หมู่บ้านติดพรมแดนแห่งหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ได้ยินเสียงปืนดังมาจากฝั่งเมียนมาอย่างต่อเนื่อง




2 สัปดาห์หลังเริ่มโหมไฟความรุนแรงในรัฐยะไข่ และชาวโรฮีนจาหลั่งไหลออกจากเมียนมาเข้าไปยังบังกลาเทศ ที่อยู่ติดกัน นางออง ซาน ซู จี ผู้นำเมียนมา เรียกสถานการณ์นี้ว่า “หนึ่งของความท้าทายที่ใหญ่ที่สุด” ที่ประเทศของเธอเผชิญ แต่เธอก็กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลของเธอก็สนับสนุนและหามาตรการต่าง ๆ เพื่อนำสันติภาพและความสงบสุขกลับคืน

เธอบอกด้วยว่า “ไม่มีเหตุผลอันควร” ที่หลายฝ่ายพากันคาดการณ์ว่า รัฐบาลของเธอจะสามารถคลีคลายปัญหานี้ได้ ซึ่งเธอเรียกปัญหานี้ว่า เป็นปัญหาที่ฝังลึกในประวัติศาสตร์ ในระยะเวลาแค่ 18 เดือนตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งบริหารประเทศ



แรงกดดันจากประชาคมระหว่างประเทศที่ถาโถมเข้าใส่รัฐบาลเมียนมาเพื่อให้หยุดใช้ความรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยชาวโรฮีนจา เพิ่มมากขึ้นในเดือนกันยายน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม กลุ่มผู้ประท้วงในกรุงธากา เมืองหลวงบังกลาเทศ แสดงความโกรธแค้นด้วยการเผาโลงศพปลอมของนางซู จี

เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนระดับสูงของยูเอ็น ประณามเมียนมาในช่วงเต้นเดือนกันยายนว่า “ใช้ปฏิบัติการทหารอย่างป่าเถื่อน” ต่อชาวโรฮีนจา พร้อมกับตราหน้าว่า มันคือตัวอย่างบทเรียนของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จำนวนชาวโรฮีนจาที่ทิ้งบ้าน หอบลูก จูงหลานหลบหนี พุ่งขึ้นถึง 400,000 คน

เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐในขณะนั้น เรียกว่า "เป็นช่วงเวลาสำคัญ" สำหรับรัฐบาลชุดใหม่ของเมียนมา พร้อมเรียกร้องให้หยุดการใช้ความรุนแรงและการเข่นฆ่า อย่างไรก็ตาม เขาก็กล่าวว่า เขาเข้าใจถึง "สถานการณ์ที่ซับซ้อนยุ่งยาก" ที่นางซู จี ประสบด้วยตัวเองในการพิจารณาข้อตกลงจัดสรรอำนาจ ที่พรรคของเธอทำไว้กับกองทัพ ที่มีการแบ่งอำนาจการปกครองอย่างชัดเจน



ซูจียกเลิกการเดินทางไปเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ในนครนิวยอร์ก สหรัฐ เพื่อจะได้ทุ่มเทเวลาในการแก้ปัญหาวิกฤตในประเทศ

ในวันที่ 18 กันยายน ฮิวแมน ไรท์ส วอตช์ กลุ่มสิทธิมนุษยชนชื่อดัง เรียกร้องให้ใช้มาตรการคว่ำบาตรเศรษฐกิจ และอาวุธต่อกองทัพเมียนมาเพื่อตอบโต้กรณีการใช้ความรุนแรงกวาดล้างกลุ่มมุสลิมโรฮีนจา ขณะที่ชาวโรฮีนจาจำนวนมาก อพยพข้ามพรมแดนเข้าไปยังบังกลาเทศ เพราะความรุนแรงต่อเนื่อง ผู้ลี้ภัยหลายแสนคนเหล่านี้ต้องพักอาศัยอยู่ในเพิงเล็ก ๆ ไม่ต่างจากเพิงหมาแหงน ในบังกลาเทศ และต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากนานาชาติ

นางซู จี มนตรีแห่งรัฐของเมียนมา แต่ในความเป็นจริงเธอก็ทำหน้าที่ไม่ต่างจากการเป็นผู้นำประเทศ กล่าวปราศรัยต่อคนในชาติในวันที่ 19 กันยายน 2560 เป็นครั้งแรกเกี่ยวกับวิกฤตโรฮีนจาที่กำลังคุกรุ่นว่า รัฐบาลของเธอยังมั่นคงที่จะรื้อฟื้นสันติภาพ

"พวกเราขอประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกรูปแบบและการใช้ความรุนแรงที่ผิดกฎหมาย เรายังยืดมั่นที่จะฟื้นฟูสันติภาพ, เสถียรภาพและหลักนิติธรรมเหมือนกันทั่วประเทศ"



ซู่ จีเรียกวิกฤตโรฮีนจาว่าเป็นปัญหาที่ "ซับซ้อน" ซึ่งรัฐบาลของเธอได้รับเผือกร้อนนี้มา ระหว่างการให้สัมภาษณ์เอเชียน นิวส์ อินเตอร์เนชั่นแนล หุ้นส่วนทีวีรอยเตอร์ในอินเดีย เมื่อวันที่ 20 กันยายน และเธอยังบอกด้วยว่า ความขัดแย้งที่ตึงเครียดระหว่างชาวมุสลิมและชุมชนอื่น ๆ ในรัฐยะไข่ ฝังรากลึกมานมนานแล้ว ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 และการฟื้นฟูความไว้เนื้อเชื่อใจและความสงบสุขจะต้องใช้เวลาพอสมควร

"ปัญหาที่นั่นปะทุขึ้นเป็นระยะ ๆ ระหว่างชุมชนชาวมุสลิม และชุมชนชาวยะไข่ และเราได้รับปัญหาที่ซับซ้อนนี้มา ให้ต้องแก้ แต่การแก้ปัญหาก็ใช่ว่าจะใช้เวลาชั่วข้ามคืน มันไม่ใช่ปัญหาที่เราจะสามารถหาคำตอบได้ง่าย ๆ" ซู จี กล่าว

ในเดือนตุลาคม 2560 องค์กรนอกภาครัฐ หรือเอ็นจีโอของบังกลาเทศ เรียกร้องหน่วยงานด้านมนุษยธรรมของยูเอ็น เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อแก้ไขวิกฤตด้านมนุษยธรรมให้ดีขึ้นในค่ายผู้ลี้ภัยกว้างใหญ่ในเมืองค็อกซ์บาซาร์ ของบังกลาเทศ เอ็นจีโอท้องถิ่น กล่าวว่า ความพยายามบรรเทาทุกข์ในท้องถิ่นจะลดผลกระทบนและปรับปรุงประสิทธิภาพของการปฏิบัติงาน

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส องค์ประมุขแห่งคริสต์จักรนิกายโรมันคาทอลิก พบกับผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมจากเมียนมาในบังกลาเทศในวันที่ 1 ธันวาคม ด้วยความสะเทือนใจ และใช้คำเรียกพวกเขาว่า "โรฮีนจา" เป็นครั้งแรกในการเสด็จเยือนเอเชีย และยังเรียกร้องให้ความเคารพต่อพวกเขาด้วย



พระองค์ยังเรียกร้องให้โลกอย่าได้เพิกเฉยต่อชะตากรรมของผู้ลี้ภัย, ชนกลุ่มน้อยที่ถูกเข่นฆ่า, คนยากจนและผู้อ่อนแอ

ในวันที่ 7 ธันวาคม สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอชซีอาร์ แถลงว่า ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจายังคงหลั่งไหลข้ามพรมแดนและมีโอกาสน้อยมาก หรือไม่มีเลยที่จะได้กลับบ้านตัวเอง พวกเขากล่าวเพิ่มเติมว่า ความแตกแยกอย่างรุนแรงฝังรากลึก ยังคงมีอยู่ในชุมชน และว่า การเข้าถึงด้านมนุษยธรรมก็ "ไม่เพียงพอ"

"น้อยมากหรือแทบเป็นไปไม่ได้ที่พวกเขาจะได้กลับบ้าน เพราะบ้านของพวกเขา และหมู่บ้านของพวกเขาถูกทำลายหมดแล้ว มีความแตกแยกอย่างหนักระหว่างชุมชน ซึ่งยังไม่สามารถแก้ไขได้ และการเข้าถึงด้านมนุษยธรรมก้ไม่เพียงพอ"

ในเดือนมกราคม 2561 รัฐบาลบังกลาเทศและเมียนมาตกลงกันได้ที่จะส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจากลับรัฐยะไข่ทั้งหมดโดยความสมัครใจ่ แต่ก็มีข้อสงสัยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกี่ยวกับแผนการดังกล่าวระหว่างผู้ลี้ภัยและสหประชาชาติ

สื่อเมียนมา รายงานว่า เมียนมาจะเริ่มรับผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาจากบังกลาเทศ ที่ศูนย์แรกรับ 2 แห่งและค่ายชั่วคราวใกล้เมืองหม่องดอว์ ในวันที่ 23 มกราคม อย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีข้างหน้า

จนถึง "วันผู้ลี้ภัยโลก" ในวันที่ 20 มิถุนายนที่เพิ่งผ่านมา ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาประมาณ 730,000 คนที่หลบหนีการกวาดล้างของกองทัพ ออกจากเมียนมา ไปแออัดอยู่กันในค่ายผู้ภัยภัยทางตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศตั้งแต่ปี 2560 ก็ยังไม่ได้ขยับเขยื้อนไปไหน

คณะผู้สอบสวนของยูเอ็น กล่าวว่า การกวาดล้างชาวโรฮีนจาของกองทัพเมียนมา เป็นการ "จงใจเพื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" แต่รัฐบาลเมียนมา ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ ปฏิเสธข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

กลุ่มสิทธิมนุษยชนมีหลักฐานการเข่นฆ่าพลเรือนและการวางเพลิงเผาหมู่บ้านต่าง ๆ แต่เจ้าหน้าที่เมียนมา กล่าวว่า พวกเขากำลังต่อสู้กับกลุ่มหัวรุนแรงชาวโรฮีนจาต่างหาก และปฏิเสธการฆ่าแกงอย่างเป็นระบบ

จะอย่างไรก็ตาม มาถึงวันนี้ ชาวโรฮีนจาที่อพยพหลบหนีออกจากรัฐยะไข่ ไปอยู่ที่ค่ายลี้ภัยค็อกซ์บาซาร์ในบังกลาเทศ จำนวนมากกว่า 730,000 คน ตั้งแต่สิงหาคม 2560 ยังไม่มีรายงานว่า มีใครได้อพยพกลับรัฐยะไข่ในเมียนมาสักคน เพราะถึงอยากกลับใจจะขาด ก็ไม่กล้ากลับ เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัย และกลับแล้วไม่รู้จะมีบ้านอยู่อาศัยหรือเปล่า เนื่องจากหมู่บ้านถูกเมียนมาเผาราบไปแล้ว

ชาวโรฮีนจา ชาวมุสลิมผู้ไร้สัญชาติ จะไปไหน ก็ไม่มีใครต้อนรับ มนุษย์เหมือนกัน แต่ก็ไม่เหมือนกัน

คงต้องสู้กับชะตากรรมอันโหดร้ายต่อไปอีกหลายชั่วอายุคน "สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม" อย่างแท้จริง