"หมอเกษตร"ยัน"ชะนี"ขาหักใช้ชีวิตอยู่ในป่าได้

2020-06-19 18:25:50

"หมอเกษตร"ยัน"ชะนี"ขาหักใช้ชีวิตอยู่ในป่าได้

Advertisement

สัตวแพทย์ ยัน "ชะนี" ตกต้นไม้ขาหักใช้ชีวิตอยู่ในป่าได้ตามปกติ เหตุใช้มือจับยอดไม้เป็นหลัก

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. นายสัตวแพทย์เกษตร สุเตชะ ตำแหน่งนายสัตวแพทย์ ประจำศูนย์วิจัยและบริการวิชาการทางสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงกรณีโลกออนไลน์ ขอให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตามหา ชะนี ที่พลัดตกจากต้นไม้สูงก่อนหนีเข้าป่า เพื่อรักษาขาที่ได้รับบาดเจ็บ ว่า ถ้าหากเกิดอุบัติเหตุกับสัตว์ป่าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ช้างใช้งาแทงกันในป่าจนบาดเจ็บสาหัส กรณีกวางขวิดกันไส้ไหล หรือการที่หมาในไล่ล่าฆ่ากวาง ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งไม่มีสัตว์ตัวตายไปอย่างสูญเปล่า เพราะจะกลับไปสู่ห่วงโซ่ของธรรมชาติ แต่หากเกิดกรณีคนขับรถชนสัตว์ป่าจนได้รับาดเจ็บ เราจำเป็นต้องจับสัตว์ไปรักษา

นายสัตวแพทย์เกษตร กล่าวอีกว่า สัตว์ป่าที่ได้รับบาดเจ็บตามธรรมชาติ นักธรรมชาติวิทยาทั่วทั้งโลก มีความเห็นตรงกันว่าไม่จำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือ ปล่อยให้เป็นธรรมชาติ เพราะถ้าสัตว์ที่บาดเจ็บตายลงก็จะกลับไปสู่ห่วงโซ่อาหารตามธรรมชาติ ส่วนกรณีของชะนี ที่เขาใหญ่ตกต้นไม้มาลงมาแล้วขาหัก สามารถใช้ชีวิตอยู่ในป่าได้ เพราะชะนีส่วนใหญ่ใช้แขนมากกว่าขาเพื่อจับยอดไม้ ตลอดชีวิตของชะนี 99 เปอร์เซ็นต์แทบจะไม่ลงมาที่พื้นดิน ดังนั้นกล้ามเนื้อขาจึงไม่พัฒนา จึงไม่ส่งผลต่อการหากินของชะนี อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้เคยมีเคสในลักษณะเดียวกัน คือ มีชะนี ตกต้นไม้ได้รับบาดเจ็บ นักชะนีวิทยาที่เขาใหญ่ จึงติดตามดูการใช้วิตของชะนี ที่ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากเกรงว่าจะตายในป่า แต่ปรากฏว่า ชะนี ตัวดังกล่าวสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามปกติ เพราะตามธรรมชาติชะนี ไม่ได้ใช้ขาหลังอยู่แล้ว




นายสัตวแพทย์เกษตร กล่าวเพิ่มเติม ว่า สำหรับความคิดเห็นของคนที่อยากช่วยชะนี หรือบางความคิดเห็นที่ยืนยันว่าควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ถือว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นที่ผิด แต่โดยสรุป คือ มนุษย์ไม่สามารถช่วยสัตว์ได้ทุกกรณี ยกตัวอย่าง เช่น กรณีหมาไนล่ากวางเพื่อเป็นอาหาร แต่มีคนไปเห็นแล้วไล่หมาไน เพื่อช่วยให้กวางรอด คนที่ไปไล่อาจไม่รู้ว่าหมาไน มีลูกรออยู่ในโพรง หากไม่ได้กวางตัวนี้อาจไม่แรงไล่เหยื่ออีกแล้ว ผลที่ตามมาคือหมาไน ไม่มีนมให้ลูกกิน สุดท้ายลูกหมาไน อาจอดตายได้ บทสรุป คือ หากมนุษย์ทำให้สัตว์บาดเจ็บต้องแก้ไข แต่ถ้าสัตว์บาดเจ็บตามธรรมชาติก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามห่วงโซ่อาหาร