ผอ.ซูเปอร์โพลโต้"สิระ"เป็น ส.ส.ต้องลดความขัดแย้ง

2020-06-09 11:40:46

ผอ.ซูเปอร์โพลโต้"สิระ"เป็น ส.ส.ต้องลดความขัดแย้ง

Advertisement

ผอ.ซูเปอร์โพล แจงทุกคำถามปม "สิระ" ข้องใจผลสำรวจ แนะเป็นถึง ส.ส. ต้องลดความขัดแย้ง

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ชี้แจงกรณีนายสิระ เจนจาคะ มีความสงสัยเกี่ยวกับการทำโพล เช่น ไปสำรวจที่ไหน ทำไมผลออกมาอย่างนี้ เป็นการอวยกันหรือไม่ และนายสิระให้เอารายชื่อคนตอบแบบสอบถามมาเปิดเผย รวมถึงสั่งให้ซูเปอร์โพลยอมรับคำวิจารณ์นั้น ทางซูเปอร์โพลยินดีตอบคำถามขั้นพื้นฐานที่เรียบง่ายเหล่านี้ได้สบายๆ ดังนี้ คำถามที่ว่า ไปสำรวจที่ไหน เป็นคำถามที่ดีมาก ซูเปอร์โพล ทำสำรวจประชาชนทั่วประเทศครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดเพราะมีฐานข้อมูลครอบคลุมทุกคนในประเทศ ผลโพลจึงเป็นเสียงของตัวแทนประชาชนทั้งประเทศ

ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล กล่าวอีกว่า ทุกครั้งที่สำรวจประชาชนในพื้นที่หลักสี่ ที่นายสิระ แนะนำ ก็อยู่ในฐานข้อมูลนี้ด้วย แต่โอกาสที่จะถูกเลือกของแต่ละคนมีอยู่ประมาณ 1 ใน 53 ล้านคนของประชาชนที่อายุ 18 ปีขึ้นไปจึงเป็นข้อมูลตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ แต่ถ้าซูเปอร์โพล ทำตามที่นายสิระ แนะนำให้สำรวจประชาชนเฉพาะในเขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ผลโพลที่ได้ก็เป็นข้อมูลของตัวแทนคนในเขตหลักสี่ เท่านั้น จะบอกเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศไม่ได้ เพราะนายสิระ ไม่ได้ให้ประชาชนในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศมีโอกาสถูกเลือก ถ้าทำตามที่นายสิระ แนะนำ ก็จะถือว่าทำโพลแบบมีอคติในการเลือก เพื่อให้ได้ผลสำรวจเฉพาะคนในพื้นที่หลักสี่ของนายสิระ เท่านั้น




ผศ.ดร.นพดล กล่าวอีกว่า ผลที่ตามมาจากการทำตามคำแนะนำของนายสิระ คือ ผลสำรวจอาจจะเบี่ยงเบนไปจากเสียงของคนทั้งประเทศได้เพราะสำรวจเฉพาะคนในเขตหลักสี่ของนายสิระ เท่านั้น ตัวอย่าง เช่น สมมติมีคำถามในโพล ว่า นายสิระ เป็น ส.ส.ที่ยี้มากที่สุดในสภาหรือไม่ ถ้าสำรวจเฉพาะคนในบ้านของนายสิระ ผลโพลคงจะออกมา 0% ที่ตอบว่านายสิระ เป็น ส.ส.ยี้ที่สุดในสภา แต่ถ้าถามประชาชนทั้งประเทศว่านายสิระ เป็น ส.ส.ยี้ที่สุดในสภาหรือไม่ ผลโพลที่จะออกนั้น นายสิระ ลองคิดดูว่าจะเป็นอย่างไร ต่อมา นายสิระ ถามว่า ทำไมผลออกมาอย่างนี้มันสวนกับความรู้สึก ซึ่งคำถามนี้มักเกิดขึ้นเสมอกับข้อมูลที่สำรวจกับคนหมู่มากทั้งประเทศ

ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า ความหลากหลายทางความคิดและพฤติกรรมมีมากกว่า จึงตรงกับใจบ้างไม่ตรงกับใจบ้างเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าไม่ตรงใจเลยก็ต้องไปดูว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัย เช่น อคติของคนอ่านผลโพล หรืออคติของคนทำโพล หรืออคติของคนตอบโพล นายสิระ ถามอีกว่า เป็นการอวยกันหรือไม่ คำตอบ คือ ซูเปอร์โพล ไม่มีความจำเป็นต้องทำโพลเอาใจใครเพราะทำมาหากินได้ด้วยความรู้ความสามารถของซูเปอร์โพล โดยได้ทุนมาจากการทำโพลและงานวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซูเปอร์โพล มีเงินเหลือก็เอามาคืนสู่สังคมด้วยการทำสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เพราะเห็นว่าเสียงของประชาชนนั้นสำคัญ ซูเปอร์โพลจึงไม่จำเป็นต้องอวยใคร เพราะไม่ได้มุ่งหวังแย่งชามข้าว หรือ แย่งตำแหน่งอะไรกับใคร



ผศ.ดร.นพดล กล่าวเพิ่มเติม ว่า ที่น่าเป็นห่วง คือ นายสิระ ขอให้นำรายชื่อของคนตอบมาเปิดเผย ซึ่งเรื่องนี้ซูเปอร์โพล คิดว่าจะทำผิดหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณของนักวิจัยที่ไม่แน่ใจว่าเรื่องจริยธรรมและจรรยาบรรณนี้ นายสิระ คิดอย่างไร จะฉีกหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณ หรือว่านายสิระ จะไม่ให้ซูเปอร์โพล ประพฤติปฏิบัติตนตามจริยธรรมหรือไม่ นายสิระ ลองไปคิดพิจารณาดูดีๆ ว่าจะประพฤติปฏิบัติตนในกรอบของจริยธรรม หรือจะฉีกหลักจริยธรรม เพื่อให้ได้สิ่งที่นายสิระ ต้องการอย่างนั้นหรือไม่ สุดท้ายเรื่องการยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์นั้น ซูเปอร์โพล ยอมรับมาโดยตลอด และนำเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขตลอดเวลา

ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล กล่าวทิ้งท้าย ว่า ถ้าการวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้นมีเหตุมีผลเป็นไปด้วยปัญญา ไม่ใช่การปั้นความเท็จบอกประชาชนที่อาจทำให้ซูเปอร์โพล และตัวผมเสื่อมเสียชื่อเสียง แต่โชคดีที่พวกเราทุกคนมีกระบวนการยุติธรรมที่เป็นที่พึ่งแห่งความเป็นธรรมของทุกคนในสังคมได้ ดังนั้นในกรรมใดที่ใครก่อไว้ก็ต้องมาแก้กรรมกัน โดยสรุป ซูเปอร์โพล ยินดีให้ความร่วมมือตอบทุกคำถามอย่างเป็นกัลยาณมิตร ถ้าทุกคนที่ถามมาถามด้วยความสงสัยแท้จริงไม่มีเจตนาทำร้ายทำลายกัน บ้านเมืองจะได้สงบสุขไม่วุ่นวาย ยิ่งถ้าใครเป็นผู้แทนของราษฎรต้องทำตัวเป็นผู้ลดความขัดแย้ง ไม่ใช่เป็นต้นตอแห่งความขัดแย้งเสียเอง หวังว่านายสิระ เจนจาคะ และตนจะมีความเข้าใจอันดีต่อกันเสมอ