13 วันโควิดไทยติดเชื้อ 0 ราย เตือนกลุ่มความดันสูงเสี่ยงมาก

2020-06-07 20:15:25

13 วันโควิดไทยติดเชื้อ 0 ราย เตือนกลุ่มความดันสูงเสี่ยงมาก

Advertisement

ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายงานวันที่ 7 มิ.ย.63 มีทั้งสิ้น 8 ราย เป็นคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ กลุ่มแรก 5 ราย มาจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ถึงไทยวันที่ 2 มิ.ย.63 ทุกรายตรวจก่อนออกเดินทางแล้ว ไม่พบเชื้อ เมื่อกลับเข้าประเทศ อยู่ในพื้นที่ควบคุมโรคแห่งรัฐ ก็ไม่มีอาการแต่ตรวจเจอ จึงส่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล


กลุ่มนี้ รายที่ 1 เพศหญิงอายุ 38 ปี อาชีพพนักงานบริษัท 2 เพศชายอายุ 37 ปี นักท่องเที่ยว 3. เพศหญิงอายุ 38 ปีพนักงานสปา 4. เพศหญิงอายุ 23 ปี พนักงานนวด 5. เพศหญิง อาชีพพนักงานขายอาหาร

จากประเทศคูเวต 2 ราย เพศชาย อายุ 46 และ 37 ปี อาชีพรับจ้าง เดินทางถึงไทยวันที่ 24 พ.ค.63 ตรวจครั้งแรก 27 พ.ค.63 ไม่พบเชื้อ ตรวจครั้งที่ 2 วันที่ 6 มิ.ย.63 พบเชื้อไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จ.สมุทรปราการ

จากประเทศอินเดีย 1 ราย เพศชาย อายุ 52 ปี ถึงไทยวันที่ 5 มิ.ย.63 จากการคัดกรองที่สนามบิน มีไข้และไอ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใน จ.สมุทรปราการ

จึงทำให้ จำนวนผู้ป่วยสะสมของไทย เป็น 3,112 ราย ที่กลับบ้านแล้ว 2,972 รายหรือ 95.5% ของทั้งหมด ยังอยู่ในโรงพยาบาล 82 ราย คิดเป็น 2.63 ของผู้ป่วยทั้งหมด ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม

ถึงขณะนี้ เป็นเวลา 13 วันติดต่อกัน ที่ไม่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศ ซึ่งครอบคลุมถึงช่วงมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.63 (เป็นเวลา7 วัน) พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวว่า เป็นผลจากความร่วมมือ ร่วมใจ ของประชาชน และผู้ประกอบการ ที่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการเว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อย ๆ และการสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าเมื่อออกนอกบ้าน โดยเฉพาะเมื่อไปในสถานที่ชุมชน หรือใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ

กระนั้นก็ดี 13 วัน ก็ยังไม่เข้าเกณฑ์ปลอดภัย เพราะเชื้อจะใช้เวลาการฟักตัว 14 วัน ตามหลักการของระบาดวิทยาต้องให้ครบ 28 วัน ฉะนั้นในช่วงนี้ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะทางสังคมต่อไป

สำหรับผู้ติดเชื้อเดินทางมาจากต่างประเทศที่พบมาก ได้แก่ประเทศ คูเวต ซาอุดิอาระเบีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน และกาตาร์

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของโลก จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่วันเดียวถึง 129,924 รายยอดสะสม 6,974,721 ราย ใกล้หลัก 7 ล้านรายแล้ว ผู้เสียชีวิต รวม 402,904 ราย สหรัฐอเมริกา เป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยบราซิล อันดับสามรัสเซีย และอินเดีย เป็นประเทศในเอเชียที่ติดอันดับหก มีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันเดียว เพิ่มถึง 10,438 ราย ยอดสะสมเป็น 246,622 ประเทศอิหร่าน ติดอับดับสิบ ยอดรวม ผู้ติดเชื้อ 169,425 ราย

ถึงจะไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศเกือบสองสัปดาห์ จนมีการผ่อนปรนมาตรการป้องกันโรคถึงระยะที่ 3 แล้ว แต่ พญ.พรรณประภา ระบุว่า ทาง ศบค.ขอแนะนำประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ให้ดูแล ป้องกันตัวเอง ปฏิบัติการตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ขอให้อยู่บ้าน รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง เพราะหากติดเชื้อจะมีอาการรุนแรง มีอัตราการเสียชีวิตสูง โดยการวิจัยในประเทศจีน ศึกษาผู้ป่วยโควิด 19 ในเมืองอู่ฮั่น เกือบ 3,000 ราย พบว่า ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูง มีอัตราการเสียชีวิตถึงร้อยละ 4 ส่วนผู้ป่วยที่มีความดันฯปกติจะเสียชีวิตร้อยละ 1.1 หรือ เกือบ 4 เท่า แต่ผู้ป่วยที่หยุดกินยาลดความดันฯ อัตราการเสียชีวิตจะเพิ่มถึงร้อยละ 7.9

ทั้งนี้ ถึงจะมีการวิจัยและพัฒนาวัคซีน แต่ก็คงไม่ทันรักษาอาการผู้ป่วยในช่วงเวลานี้ เพราะแม้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมีความคืบหน้าถึงขั้นฉีดวัคซีนต้นแบบกับลิงทดลองครั้งแรกเมื่อ 23 พ.ค.63 ก็เพิ่งจะถึงรอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันระยะ 2 สัปดาห์ และเพิ่งจะฉีดเข็มที่สอง วันที่ 7 มิ.ย.63 ซึ่งต้องรอผลอีก 1 สัปดาห์ หากยังไม่เป็นที่น่าพอใจก็จะใช้เวลาอีก 1 เดือนถึงจะเจาะตรวจใหม่

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แจ้งว่า สถาบันชีววัตถุ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการควบคุมคุณภาพวัคซีน ได้ตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันในหนูที่ได้รับวัคซีนต้นแบบของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าสามารถเจือจางซีรั่มถึง 500เท่า ก็ยังทำลายเชื้อไวรัสได้ แสดงว่า หนูมีภูมิคุ้มกันไวรัสโควิด-19 ขั้นต่อไปก็จะฉีดในลิงทดลองและมนุษย์อาสาสมัครต่อไป

ส่วนจะได้ใช้จริงเมื่อไหร่ ท่านอธิบดีบอกเป็นเรื่องอนาคต ไม่สามารถตอบได้ บางประเทศที่รายงานว่าเร็วที่สุด ก็เป็นช่วงต้นปี 2564 บางประเทศก็ปลายปี 2564 เพราะการวิจัยพัฒนาวัคซีนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ละขั้นตอนต้องทดสอบในสิ่งมีชีวิต ทำให้ผลที่ได้มีความแปรปรวน จึงคาดการณ์ยากว่า วัคซีนที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยและมีประสิทธิผลนั้น จะสำเร็จได้เมื่อใด

ฉะนั้น เพื่อความปลอดภัย ใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง และล้างมือบ่อย ๆ

สูตรอื่นยังไม่มี