ครม. เห็นชอบแผ่นยางหุ้มแบริเออร์-เสาหลักนำโค้งยางพารา

2020-05-26 18:55:09

ครม. เห็นชอบแผ่นยางหุ้มแบริเออร์-เสาหลักนำโค้งยางพารา

Advertisement

ครม. เห็นชอบเดินหน้าดำเนินการแผ่นยางหุ้มแบริเออร์-เสาหลักนำโค้งยางพารา ลุยจัดซื้อวิธีเฉพาะเจาะจงผ่านเกษตรกรโดยตรงไม่ผ่านนายหน้า เล็งเอ็มโอยูร่วม ก.เกษตรฯ สัปดาห์หน้า 

เมื่อวันที่ 26 พ.ค. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.วันนี้มีมติเห็นชอบการดำเนินการจัดทำแผ่นยางหุ้มแบริเออร์ (Rubber Fender Barrier) โดยใช้วิธีการจัดซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจง ที่จะนำมาดำเนินการบนถนนที่มีเกาะสีกั้นกลางของ ทล. และ ทช. กว่า 12,000 กม. แบ่งเป็นถนนของ ทล. ประมาณ 11,000 กม. และ ถนนของ ทช. ประมาณ 1,000 กม. ใช้น้ำยางพาราประมาณ 360,000 ตัน (3 ปี)  นอกจากนี้ พร้อมปรับแผนการใช้งบประมาณปี 2563 ของกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ในส่วนที่เป็นพาราแอสฟัลท์ติกคอนกรีต (PARA AC) ให้เหลือเพียงแค่แอสฟัลท์ติกคอนกรีต (AC) เท่านั้น ซึ่งจะเหลืองบประมาณ 2,500 ล้านบาท ขณะที่ปีงบประมาณ 2564 และ 2565 จะขอใช้งบประมาณปีละประมาณ 40,000 ล้านบาท รวม 3 ปี (2563-2565) วงเงินประมาณ 85,000 ล้านบาท เพื่อมาดำเนินการแผ่นยางพาราหุ้มแบริเออร์ และเสาหลักกันโค้ง อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ไม่ได้รื้อเกาะกลางของเดิมอย่างแน่นอน

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า เตรียมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดให้เกษตรกรเป็นผู้จำหน่ายและผลิตโดยตรงให้กับ ทล. และ ทช. โดยไม่ผ่านบริษัทอื่นๆ หรือนายหน้าภายในสัปดาห์หน้า ขณะที่ ทล. และ ทช. จะต้องไปถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งหลังจากนี้ กระทรวงเกษตร และสหกรณ์จะคัดเลือกสหกรณ์ที่มีความพร้อมในการดำเนินการ พร้อมได้รับคำยืนยันจากนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ เพื่อสนับสนุนด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ด้วย

“โครงการนี้ เป็นการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้น และมีปรพสิทธิภาพในการการก่อสร้างที่รวดเร็วขึ้น จากปกติระยะทาง 1 กิโลเมตร (กม.) จะใช้เวลาก่อสร้าง 2-3 เดือน แต่พอมาเป็นแผ่นยางพาราหุ้มแบริเออร์ จะเหลือเวลาแค่ 1 สัปดาห์ ซึ่งเร็วขึ้น 8 เท่า ส่วนจะนำมาใช้กับถนนไหนนั้น จะต้องมาเรียงลำดับความสำคัญต่อไป” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ได้สั่งการให้ ทล. และ ทช. ไปจดสิทธิบัตรแผ่นยางพาราหุ้มแบริเออร์ เพราะเป็นนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ และใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (Local Content) รวมถึงยังให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มข.) ไปศึกษาวิธีการใช้น้ำยาเคลือบแผ่นยางพาราแบริเออร์ เพื่อยืดอายุเวลาจาก 3 ปี เป็น 5 ปี รวมถึงศึกษาการนำมาปรับปรุงใช้ใหม่อีกครั้ง (รีโนเวท) เมื่อหมดอายุการใช้งานแล้ว