ส่องโปรไฟล์ “4 บอร์ดคนใหม่” ฟื้นฟูการบินไทย

2020-05-26 14:45:26

ส่องโปรไฟล์  “4 บอร์ดคนใหม่” ฟื้นฟูการบินไทย

Advertisement

จากกรณีที่มีมติแจ้งชื่อต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ 4 คน เพื่อฟื้นฟูกิจการการบินไทย ประกอบด้วย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายบุญทักษ์ หวังเจริญ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร  และนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไปนั้น แต่ละท่านเป็นใคร มีประวัติชีวิตและผลงานน่าสนใจอย่างไรบ้าง ตามไปดูกัน

1. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ดำรงตำแหน่งกรรมการ บริษัทการบินไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดต่อ​ไวรัสโคโรนา​ 2019 กรรมการในคณะกรรมการบริหารสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 กรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

นายพีระพันธุ์ เกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ชื่อเล่น ตุ๋ย เป็นบุตรของ พล.ท.ณรงค์ สาลีรัฐวิภาค อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์และเจ้ากรมการพลังงานทหาร ผู้ริเริ่มการขุดเจาะน้ำมันที่อำเภอฝาง จ.ชียงใหม่ และก่อตั้งปั๊มน้ำมันสามทหาร เป็นหลานพระยาสาลีรัฐวิภาค (สงวน ไนคีตะเสน) กับ คุณหญิงสาลีรัฐวิภาค ส่วนมารดา นางโสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค (นามสกุลเดิม สุมาวงศ์) อดีตดาวจุฬาฯ คนแรก ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้สุนทราภรณ์แต่งเพลงดาวจุฬาฯ และขวัญใจจุฬาฯ เป็นบุตรีพระมนูเวทย์วิมลนาท อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหราชอาณาจักรและประธานศาลฎีกา กับคุณหญิงมนูเวทย์วิมลนาท (แฉล้ม สุมาวงศ์) ชีวิตครอบครัว สมรสกับ นางสุนงค์ สาลีรัฐวิภาค (นามสกุลเดิม : โทณวณิก) มีบุตรธิดารวมกันทั้งหมด 4 คน ได้แก่ ชลิตา, ภัทร และฝาแฝด ภัทรพร-ภัทรพรรณ สาลีรัฐวิภาค




ด้านการศึกษา จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และปริญญาโททางด้านกฎหมายอเมริกันทั่วไปและกฎหมายเปรียบเทียบจากมหาวิทยาลัยทูเลน สหรัฐอเมริกา

ด้านประสบการณ์การทำงาน เคยเป็นผู้พิพากษาและข้าราชการตุลาการมาก่อน เข้าสู่แวดวงการเมืองโดยลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขตห้วยขวาง ดินแดง พญาไท ในปี พ.ศ. 2539 ร่วมทีมกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ บทบาทในสภา ฯ ของนายพีระพันธุ์ เป็นไปในทางการตรวจสอบการทุจริต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทุจริตจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ของกองทัพ เคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ในช่วงปี พ.ศ. 2544-2548 มีผลงานสำคัญคือการสอบสวนการทุจริต "ค่าโง่ทางด่วน 6,200 ล้านบาท" ซึ่งถูกนำไปใช้ในการต่อสู้คดีในชั้นศาลและประสบชัยชนะ ทำให้คนไทยไม่ต้องจ่ายค่าโง่พร้อมดอกเบี้ยนับหมื่นล้านบาท



2. นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ดำรงตำแหน่งกรรมการ บริษัทการบินไทย สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเคมี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจ จาก New York University ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ในการบริหารจัดการธุรกิจธนาคารพาณิชย์มาอย่างยาวนาน โดยเคยดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) รวมทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งประธานสมาคมธนาคารไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และกรรมการ รองประธานกรรมการบริหาร กรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน และประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) และเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

3. ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ดำรงตำแหน่งกรรมการ บริษัทการบินไทย จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย, ส.ก.17629 ระดับปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโทและเอก จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หลังจบการศึกษาเป็นอาจารย์ในภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นเข้าทำงานที่บริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติจำกัด และธนาคารกรุงเทพ จำกัด

ภายหลังลาออกจาก ธนาคารกรุงเทพ ดร.ไพรินทร์ เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกโพลีเอททีลิน จำกัด ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ปตท. และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีทีที อาซาฮี เคมิคอล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ปตท. และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง และบริษัท พีทีที อาซาฮี เคมิคอล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ และรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และดำรงตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และกรรมการ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จนเกษียณจากการทำงาน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ-กรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), ประธานคณะกรรมการบริหารโรงเรียนกำเนิดวิทย์



4. นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ดำรงตำแหน่งกรรมการ บริษัทการบินไทย มีชื่อเล่นว่า ป๊อก เป็นบุตรชายคนโตของปรก อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ และอดีตเอกอัครราชทูตฯ กับหม่อมราชวงศ์ปิ่มสาย อัมระนันทน์ (สกุลเดิม สวัสดิวัตน์) เป็นหลานตาของ หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์

ปิยสวัสดิ์ สำเร็จชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 จากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นศึกษาต่อระดับไฮสกูลที่ โรงเรียน Bryanston Public School ประเทศอังกฤษ โดยเรียน 4 ปี ได้ระดับเกรด A ในปี พ.ศ. 2515 สอบเข้า Brasenose College มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาคณิตศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับ 1) มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ระดับปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์ London School of Economics มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ และระดับปริญญาเอก สาขาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ (ได้รับทุนรัฐบาลอังกฤษ) สมรสกับอานิก อัมระนันทน์ (สกุลเดิม วิเชียรเจริญ) มีบุตร 2 คนคือ ปีย์ อัมระนันทน์ และอนุตร์ อัมระนันทน์

เริ่มรับราชการเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2523 ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับ 4 กองวางแผนเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จนได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการกองวิเคราะห์และประมาณการเศรษฐกิจ เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 และได้โอนมารับตำแหน่งเป็น รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในปีเดียวกัน นอกจากนี้ยังได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2537 และอยู่ในตำแหน่งรวม 6 ปี ก่อนจะย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 และตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2543

งานด้านการเมือง ปิยสวัสดิ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ในการปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีครั้งนั้น ปิยสวัสดิ์ ได้ยกเลิกแผนการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติจากประเทศพม่า และหลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา