หดหู่ แรงงานอินเดียเดินเท้ากลับบ้าน 1,000 กิโลเมตร

2020-05-25 16:05:34

หดหู่ แรงงานอินเดียเดินเท้ากลับบ้าน 1,000 กิโลเมตร

Advertisement

สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โควิด-19 ในอินเดีย ยังเลวร้าย ล่าสุดวันจันทร์ พบผู้ติดเชื้อทำสถิติสูงสุดในวันเดียว แซงหน้าอิหร่านขึ้นเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดเป็นอันดับ 10 ของโลกแล้ว แม้ว่ารัฐบาลอินเดียจะอนุญาตให้เที่ยวบินภายในประเทศ กลับมาให้บริการได้แล้ว

อินเดียรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 6,977 คน รวมทั่วประเทศเป็น 138,845 คน แม้ว่านายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ผู้นำอินเดีย ประกาศบังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์ยาวนานที่สุดในโลก ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาก็ตาม ส่วนตัวเลขผู้เสียชีวิตพุ่งผ่าน 4,000 คนไปแล้ว

การเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อรายใหม่ มีขึ้นขณะที่ธุรกิจบางอย่างและการเดินทางกลับมาให้บริการอีกครั้งภายใต้มาตรการผ่อนคลายล็อคดาวน์ระยะใหม่




ผู้โดยสารบางคนและลูกเรือ มีกำหนดขึ้นเครื่องที่ท่าอากาศยานนานาชาตินิวเดลีในวันจันทร์ กล่าวว่า อารมณ์ความรู้สึกที่อาคารผู้โดยสารนั้น ดูอึมครึ้มซึมเซา ขณะเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก็บังคับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเข้มงวด และให้ผู้โดยสารทุกคนสวมหน้ากากอนามัยด้วย

ขณะเดียวกัน รัฐบาลกลางไม่ได้ยืนยันให้ผู้โดยสารต้องกักตัวหลังจากเดินทางด้วยเที่ยวบินถึงจุดหมายปลายทาง แต่ก็มีบางรัฐที่ประกาศให้ผู้โดยสารที่เดินทางถึงต้องกักตัว ซึ่งก็สร้างความสับสวนในหมู่ผู้เดินทาง



สุภาม ดีย์ นักวิศวกร ที่เดินทางไปยังรัฐอัสสัม ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ กล่าวว่า การบินไปเยี่ยมครอบครัวครั้งนี้ ความรู้สึกคล้ายกับว่าเขากำลังเดินทางเข้าสู่สมรภูมิสงคราม

ส่วนการรถไฟของอินเดีย ก็แถลงด้วยว่า จะให้บริการรถไฟขบวนพิเศษเพิ่มเติมอีก 2,600 ขบวนในอีก 10 วันข้างหน้า เพื่อช่วยแรงงานผู้อพยพที่ติดค้างเกือบ 3.5 ล้านคน กลับบ้าน ทั้งนี้ มาตรการล็อคดาวน์กะทันหัน ที่ประกาศในวันที่ 24 มีนาคม ทำให้แรงงานอพยพหลายล้านคน ถึงกับต้องเซถลาเลยทีเดียว เพราะแทบจะไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องเดินเท้ากลับบ้านเกิด ซึ่งบางคนอยู่ไกลจากที่ทำงานมากกว่า 1,000 กิโลเมตร

แรงงานที่รับค่าจ้างรายวันหลายหมื่นคนในหลายเมือง ตกงานทันที หรือไม่ก็ต้องยอมเดินทางกลับบ้านเกิด เพราะไม่กล้าอาศัยอยู่ในแหล่งชุมชนแออัดในเมือง ที่มีอัตราการระบาดของไวรัสสูงในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมานี้



อนิจจา มีแรงงานอพยพมากกว่า 100 คน ต้องเสียชีวิตระหว่างทางกลับบ้าน ทั้งจากอุบัติเหตุ หรือเกิดจากการเหนื่อยล้าจากการเดินทาง