เรียนออนไลน์-ดาวเทียม ความจริงที่ขำไม่ออก

2020-05-19 16:40:30

เรียนออนไลน์-ดาวเทียม  ความจริงที่ขำไม่ออก

Advertisement




วันแรก สำหรับการเรียนผ่านออนไลน์ของเด็กนักเรียน ในช่วงระมัดระวังโควิด 19 มีทั้งความน่ารักและความเครียด


ความน่ารัก เกิดจากเด็กๆโดยเฉพาะเด็กอนุบาลและป.ต้นบางส่วน มีสมาธิได้ไม่เท่าไหร่ ก็ออกอาการเรียนบ้าง เล่นบ้าง ลุกหนีจากหน้าจอบ้าง มีบ้างที่เปลี่ยนช่องไปดูการ์ตูน และมีอีกไม่น้อย ที่หันไปคว้าขวดนมมาดูด ก่อนจะนอนหลับปุ๋ยในที่สุด






ส่วนความเครียด เกิดทั้งในเด็กและพ่อแม่ผู้ปกครอง ตั้งแต่เน็ตล่ม ไม่เสถียร จอทีวีเล็กมองเห็นไม่ชัด ไม่ชินกับการเรียนแบบนี้ จดไม่ทัน ตามครูสอนไม่ทัน ส่งผลให้เกิดอาการเบื่อหน่าย ขาดสมาธิ เรียนไปทำกิจกรรมอื่นไป รวมกระทั่งวิธีการสอนของครูขาดความน่าสนใจ พูดเนิบนาบน้ำท่วมทุ่ง ไม่สามารถกระตุ้นให้เด็กนักเรียนกระตือรือล้นอยากเรียนได้


แต่สำหรับความเครียดของพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีมากกว่าเด็กๆ คือต้นทุนและความไม่พร้อมสำหรับการรับมือการเรียนการสอนแบบนี้ ซึ่งต้องมีทั้งทีวีหรือจอคอมพิวเตอร์ รวมทั้งสมาร์ทโฟนครบตามจำนวนลูกหลานที่ต้องเรียน ไหนยังต้องห่วงเรื่องค่าเน็ตหรือค่าไวไฟที่ต้องเพิ่มมากขึ้น หลายคนต้องควักเงินเพิ่มเพื่อซื้ออุปกรณ์สำหรับการเรียนของเด็ก หากพอมีฐานะหน่อยยังพอทำเนา แต่สำหรับคนที่หาเช้ากินค่ำ การต้องหาซื้ออุปกรณ์การเรียนเพิ่ม ถือเป็นภาระโดยตรง






ตัวอย่างจากข่าวยายพาหลานหาซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องละไม่เกืน 2 พันบาท สะท้อนให้เห็นความลำบากและงบที่มีจำกัด ซึ่งเชื่อว่ายังมีจำนวนมากที่ตกอยู่ในสภาพดังกล่าว กระทั่งรองผู้บัญชาการสอบสวนกลาง พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รู้สึกสะเทือนใจและดำริขอรับบริจาคโทรศัพท์มือถือมือสอง เพื่อช่วยเหลือเด็กและครอบครัวที่ยากจน


แม้ดร.แหม่ม นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกรัฐบาล จะกล่าวอ้างคำพูดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าจะนำปัญหาต่างๆ ทั้งค่าอุปกรณ์ ค่าเน็ต และภาระการดูแลของผู้ปกครองไปพิจารณาหาทางช่วยเหลืออย่างรอบคอบ แต่ในเบื้องต้นก็เป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องจ่ายไปก่อน และไม่รู้จะได้รับการชดเชยในรูปแบบใด หรือจะต้องใช้เวลานานเท่าใด


ที่สำคัญ ดร.แหม่ม ยังย้ำว่า การเรียนการสอนผ่านออนไลน์และดาวเทียม เป็นเพียงการแก้ปัญหาช่วงรอเปิดเรียนเดือนกรกฎาคมเท่านั้น เมื่อวิกฤติโควิด 19 ผ่านพ้นไป ก็จะให้กลับไปเรียนในห้องตามเดิม


เท่ากับการลงทุนเพิ่มของพ่อแม่ผู้ปกครอง จะเป็นเพียงการลงทุนระยะสั้น 1 เดือนครึ่งเท่านั้น หลังจากนั้นก็ไม่จำเป็นต้องใช้แล้ว


อย่างที่ย้ำในตอนต้น การลงทุนเพิ่มเพื่อลูกหลาน หากเป็นครอบครัวที่มีฐานะ ย่อมไม่กระทบมาก แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ครอบครัวของนักเรียนส่วนใหญ่เกินกว่า 70-80 % ล้วนได้รับกระทบ และเสมือนถูกซ้ำเติมจากวิกฤติโควิด 19 อีกต่อหนึ่ง




นี่จึงเป็นการบ้านชิ้นใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาล ที่ต้องพิจารณาและทบทวน เพื่อแก้ไขเยียวยา รวมทั้งการประเมินความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง หรือ"นิว นอร์มอล"สำหรับระบบการศึกษาแบบใหม่ของไทยอย่างเร่งด่วน



ไม่ใช่เข้าข้างตัวเองถึงขั้นหลับหูหลับตาว่า ระบบการเรียนการสอนล่มเพราะเด็กนักเรียนสนใจกันมาก เมื่อพยายามจะเข้าสู่ระบบมาก จึงเกิดเหตุการณ์"เวบล่ม" ซึ่งถือเป็นเรื่องดี


ถ้าแบบนี้เป็นเรื่องดี ก็คงไม่มีอะไรจะพูดแล้วล่ะครับ