อินเดีย-บังกลาเทศอ่วม อพยพกว่า 1 ล้านหนีซูเปอร์ไซโคลน

2020-05-19 07:25:58

อินเดีย-บังกลาเทศอ่วม อพยพกว่า 1 ล้านหนีซูเปอร์ไซโคลน

Advertisement

ประชาชนมากกว่า 1.1 ล้านคนในภาคตะวันออกของอินเดียและบังกลาเทศ ถูกอพยพออกจากพื้นที่อย่างเร่งด่วน ขณะที่พายุไซโคลนกำลังแรง “อำพัน” เตรียมพัดขึ้นฝั่งภายในไม่กี่วันนี้

โดยไซโคลนที่มีอานุภาพการทำลายล้างสูงสูงนี้ เคลื่อนตัวด้วยกำลังลมสูงถึง 241 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และคาดว่าจะทำให้เกิดคลื่นซัดฝั่งสูง 30 ฟุต ในการพัดขึ้นฝั่งวันพุธนี้ และสำนักงานอุตุนิยมวิทยาของอินเดีย หรือไอเอ็มดี คาดว่า ไซโคลน “อำพัน” จะเพิ่มกำลังเป็น “ซูเปอร์ไซโคลน” ในคืนวันจันทร์ และพายุจะพัดเข้าโจมตีในพื้นที่ระหว่างรัฐเวสต์เบงกอลของอินเดีย และหมู่เกาะฮาติยา ในบังกลาเทศบ่ายวันพุธนี้ ด้วยกำลังลมระหว่าง 154 กิโลเมตร ถึง 164 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และกำลังลมที่จุดศูนย์กลาง 183 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่คาดว่าจะลดความรุนแรงลงก่อนขึ้นฝั่ง

รัฐโอริศาของอินเดียเพียงรัฐเดียว มีแผนเตรียมอพยพประชาชนประมาณ 1.1 ล้านออกจากพื้นที่ราบต่ำ ซึ่งคาดว่าจะถูกไซโคลนพัดถล่มราบเป็นหน้ากลอง ซึ่งก่อนหน้านี้ พื้นที่เหล่านี้เคยได้รับความเสียหายอย่างหนักจากไซโคลนหลายลูกพัดกระหน่ำในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมทั้งไซโคลน “ฟานี” ในปี 2562 ด้วย




เจ้าหน้าที่คาดการณ์ว่า ไซโคลนกำลังแรงลูกนี้ คาดว่าจะสร้างความเสียหายในวงกว้าง ซึ่งรวมทั้งโรงไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารต่าง ๆ และยังจะส่งผลกระทบต่อการให้บริการรถไฟและรถยนต์ด้วย นอกจากนี้ พืชผลทางการเกษตรก็จะได้รับความเสียหายอย่างหนักเช่นกัน เจ้าหน้าที่ท่าเรือต้องปิดการให้บริการ และชาวประมงได้รับคำแนะนำให้หยุดทำงานชั่วคราวในบริเวณอ่าวเบงกอล และรัฐโอริศา จนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม

เอส เอ็น ปราธาน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติของอินเดีย หรือเอ็นดีอาร์เอฟ กล่าวว่า เอ็นดีอาร์เอฟ ได้ส่งชุดเฉพาะกิจ 37 ทีมไปยังรัฐเวสต์ เบงกอล และรัฐโอริศา ซึ่งในจำนวนนี้ มี 20 ทีมเข้าไปปฏิบัติหน้าที่แล้ว และอีก 17 ทีม เตรียมพร้อมเข้าปฏิบัติหน้าที่ใน 2 รัฐเมื่อได้รับคำสั่ง



ขณะเดียวกัน อินเดียก็มีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่า 100,340 คน และเสียชีวิตแล้ว 3,156 คน ในขณะที่บังกลาเทศมีผู้ติดเชื้อแล้วประมาณ 23,870 คน และเสียชีวิต 349 คน ทำให้อินเดียและบังกลาเทศต้องประสบกับปัญหาความยากลำบากในการอพยพผู้คน ในขณะที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ ที่อพยพประชาชนกว่า 200,000 คน หลบหนีไต้ฝุ่น “หว่องฟ้ง” ซึ่งก็ต้องรักษาการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อหลีกลี่ยงการระบาดของไวรัสเช่นกันก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน