สัญญาณอันตราย ชาวโรฮีนจารายแรกติดโควิด-19 ในค่ายผู้ลี้ภัยบังกลาเทศ

2020-05-18 05:55:22

สัญญาณอันตราย ชาวโรฮีนจารายแรกติดโควิด-19 ในค่ายผู้ลี้ภัยบังกลาเทศ

Advertisement


พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายแรกในค่ายผู้ลี้ภัยชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮีนจา ที่อยู่กันอย่างแออัด ในเขตค็อกซ์บาซาร์ ภาคใต้ของบังกลาเทศ ซึ่งมีผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาอาศัยอยู่มากกว่า 1 ล้านคน และอยู่ภายใต้มาตรการล็อคดาวน์มาตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม

มาห์บับ อาลาม ตาลุคเดอร์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านผู้ลี้ภัยของบังกลาเทศ กล่าวว่า มีชาวโรฮีนจาติดเชื้อ 1 คน และชาวท้องถิ่นบังกลาเทศในค็อกซ์บาซาร์อีกคนหนึ่ง ทั้ง 2 คนถูกกักตัวแล้วเรียบร้อย ส่วนหลุยส์ โดโนแวน โฆษกหญิงของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าวกับสำนักข่าวเอพีว่า เจ้าหน้าที่ไม่รอช้ารีบรักษาผู้ติดเชื้อและติิดตามตัวคนที่อาจติดต่อใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ เธอบอกด้วยว่า มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาในเมืองค็อกซ์บาซาร์ ติดเชื้อไวรัสตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา



บังกลาเทศ มีผู้ติดเชื้อทั่วประเทศ 22,268 คน และเสียชีวิต 328 คน แต่จำนวนที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านี้มาก เนื่องจากประเทศ ที่มีประชากร 160 ล้านคนแห่งนี้ ยังขาดแคลนอุปกรณ์ตรวจหาเชื้อ เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ เตือนว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการระบาดรุนแรง หากไวรัสมรณะโควิด-19 ลุกลามเข้าสู่ค่ายผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่น

ดร.ชามิม จาฮาน ผู้อำนวยด้านสาธารณสุขขององค์การ Save the Children ในบังกลาเทศ ระบุในแถลงการณ์ฉบับหนึ่งว่า ขณะนี้ ไวรัสแพร่กระจายเข้าสู่ค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้แล้ว มีความเป็นไปได้อย่างแท้จริงที่อาจทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคนจากโควิด-19 การระบาดของไวรัสอาจทำให้บังกลาเทศถอยหลังกลับไปอีกหลายสิบปี



มีผู้ลี้ภัยมากถึง 40,000 คนอาศัยอยู่รวมกันบนพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร ในกระท่อมมุงพลาสติกต้้งอยู่ติด ๆ กัน ทั้งหมด 34 ค่าย มีประชากรเฉลี่ยหนาแน่กว่าประชาชนของบังกลาเทศถึง 40 เท่า กระท่อมแต่ละหลังตั้งมีขนาด 10 ตารางเมตร และมีหลายหลังอยู่กันอย่างแออัดถึง 12 คน ผู้ลี้ภัยบางคนวิตกกังวลไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดและอุปกรณ์ป้องกันตนเอง

โร ซอว์เยดดอลเลาะห์ ที่อาศัยอยู่ในค่ายแห่งหนึ่งและเป็นผู้อำนวยการบริหารของสหภาพนักศึกษาชาวโรฮีนจาด้วย กล่าวว่า อยู่ในค่าย มันเป็นเรื่องยากที่จะป้องกันสุขภาพของพวกเราจากไวรัสได้ เพราะมีผู้คนจำนวนมากอาศัยอยู่รวมกันในสถานที่เล็ก ๆ

สหประชาชาติ หรือยูเอ็น และรัฐบาลบังกลาเทศ แถลงว่า มีเตียงสำหรับกักตัวและรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 อยู่ประมาณ 1,200 เตียงเตรียมพร้อมอยู่นอกค่าย ที่เขตอูคียาและเทคนาฟ ในเมืองค็อกซ์บาซาร์ และทางการมีแผนเพิ่มเตียงไว้แล้ว

สำนักงานบรรเทาทุกข์และกลุ่มสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้รัฐบาลบังกลาเทศ ยกเลิกมาตรการคุมเข้มการใช้โทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ตภายในค่ายผู้ลี้ภัย โดยเจ้าหน้าที่ระงับการใช้อินเตอร์เน็ตด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย และมีรายงานเมื่อไม่นานมานี้ว่า มีกลุ่มติดอาวุธที่แฝงตัวเข้ามาในกลุ่มผู้ลี้ภัย ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวและลักลอบค้ายาเสพติด



โร ซอว์เยดดอลเลาะห์ กล่าวว่า เพราะการระบาดของไวรัสโควิด-19 ประชาชนไม่ได้พบปะกันเลย เพราะฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะแชร์ข้อความ หรือข้อมูลใด ๆ โดยไม่มีอินเตอร์เน็ต

ชาวโรฮีนจาส่วนใหญ่ หลบหนีจากเมียนมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 เมื่อกองทัพเมียนมา เปิดฉากกวาดล้างกลุ่มหัวรุนแรงชาวโรฮีนจา เพื่อตอบโต้การโจมตีฐานที่มั่นของตำรวจและทหารในรัฐยะไข่ กองทัพเมียนมา ถูกกล่าวหาว่าข่มขืนหมุู่, เข่นฆ่าและเผาบ้านเรือนหลายพันหลังของชาวโรฮีนจา

รัฐบาลเมียนมาถือว่าชาวมุสลิมโรฮีนจา เป็นเพียงผู้อพยพจากบังกลาเทศมานานแล้ว แม้ว่าครอบครัวของพวกเขาอาศัยอยู่ในเมียนมา ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธมานานหลายร้อยปีแล้วก็ตาม ชาวโรฮีนจาเกือบทั้งหมดถููปฏิเสธสัญชาติ หรือฐานะพลเมืองมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 กลายเป็นกลุ่มคนไร้สัญชาติจนถึงขณะนี้ พวกเขาถูกปฏิเสธเสรีภาพในการเคลื่อนไหวและสิทธิขั้นพื้นฐานอื่น ๆ ซึ่งรวมทั้งการศึกษา