พิษโควิด-19 ทุบเศรษฐกิจโลก “หายนะ”

2020-04-01 17:50:26

พิษโควิด-19 ทุบเศรษฐกิจโลก “หายนะ”

Advertisement


เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ธนาคารโลก เตือนว่า ดูเหมือนว่า “เศรษฐกิจต้องพบเจอกับความเจ็บปวดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในทุกประเทศ” และภาคครัวเรือนที่พึ่งพาอุตสาหกรรม มีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส

ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งลงหนักสุดครั้งประวัติศาสตร์ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ท่ามกลางการเทขายอย่างหนัก อันเนื่องมาจากการะบาดของไวรัสโควิด-19 โดยดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ตลาดหุ้นนิวยอร์ก และดัชนีเอฟทีเอสอี 100 ตลาดหุ้นลอนดอน ร่วงลงหนักที่สุดในไตรมาสตั้งแต่ปี 2530 ซึ่งร่วงลง 23 เปอร์เซ็นต์ และ 25 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ส่วนเอสแอนด์พี 500 รูดลง 20 เปอร์เซ็นต์ เลวร้ายที่สุดตั้งแต่ ปี 2551



การทรุดลงของตลาดหุ้นมีขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่รัฐสั่งหยุดกิจกรรมทั้งหมดในความพยายามที่จะชะลอการระบาดของไวรัส บรรดานักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจดูเหมือนจะเลวร้ายยิ่งกว่าช่วงวิกฤตการเงิน ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่พยากรณ์ของไอเอชเอส มาร์กิต คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะหดตัวลง 2.8 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ เมื่อเทียบกับ การหดตัว 1.7 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2552

ไม่มีประเทศใดรอดพ้นจากความหายนะร้ายนี้ บริษัทข้อมูลคาดว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนจะเหลืออยู่ที่ 2 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ สหราชอาณาจักร อาจลดลง 4.5 เปอร์เซ็นต์ ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ อย่างอิตาลีและประเทศด้อยพัฒนาอื่น ๆ เลวร้ายยิ่งกว่า



“พวกเรายังคงมีความวิตกกังวลอย่างมากเกี่ยวกับผลด้านลบ สำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2563 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับปัญหาที่จะถาโถมเข้าใส่ประเทศตลาดเกิดใหม่ และประเทศรายได้น้อย” ผู้อำนวยการใหญ่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ คริสตาลีนา จอร์จิเอวา กล่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

ในสหรัฐ บทวิเคราะห์ของธนาคารกลางชิ้นหนึ่ง บอกว่า อัตราการว่างงานอาจพุ่งสูงมากกว่า 32 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ขณะที่อีกกว่า 47 ล้านคนตกงาน

ดัชนีหุ้นทั่วโลกดิ่งลงต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี การดิ่งลงครั้งใหญ่ของราคาน้ำมัน เนื่องจากอุปสงค์ลดลง และสงครามราคาระหว่างประเทศผู้ผลิตน้ำมัน กลายเป็นปัญหาโถมทับตลาดเงิน รัฐบาลต่าง ๆ ให้คำมั่นว่าจะทุ่มงบประมาณก้อนโตเพื่อกอบกู้ ซึ่งก็ช่วยให้ตลาดหุ้นดีดตัวขึ้นมาได้บ้างในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยเมื่อวันอังคาร ดัชนีเอฟทีเอสอี ขยับขึ้นเกือบ 2 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ ดัชนีดีเอเอ็กซ์ ตลาดหุ้นเยอรมนี และซีเอซี40 ก็เพิ่มขึ้นพอประมาณ แต่ดัชนีหุ้นหลักในสหรัฐ กลับสาละวันเตี้ยลง ซึ่งดาวโจนส์ ทรุดลง 1.8 เปอร์เซ็นต์, เอสแอนด์พี 500 ลดลง 1.6 เปอร์เซ็นต์ และแนสแดค ก็ดิ่งลงเกือบ 1 เปอร์เซ็นต์

บริษัทพลังงานและบริษัทการเงิน อยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลดระทบเลวร้ายที่สุดในไตรมาสแรกของปีนี้ ผู้ค้าปลีก ซึ่งได้เห็นยอดขายวูบหาย เพราะห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ปิดให้บริการ ทำให้ต้องสูญเสียรายได้ ขาดทุนยับเยิน เช่นห้างเมซีย์ ยอดขายดิ่งลงเกือบ 9 เปอร์เซ็นต์ ต่อวัน และให้พนักงานส่วนใหญ่ไปพักอยู่ที่บ้านโดยไม่ได้รับค่าจ้าง



“แม้จะมีมาตรการกระตุ้นทางการเงิน พวกเราก็คาดว่า ความผันผวนของตลาดหุ้นจะยังคงมีอยู่ในระดับสูง ตราบใดที่ยังไม่รู้ว่าไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อไปอีกนานเท่าไหร่ ราคาน้ำมันจะยังคงตกต่ำ และผลประกอบการก็ยังจะมืดมนต่อไป” บทวิเคราะห์ของฝ่ายบริหารทรัพย์สินธนาคารสหรัฐ