พ่อค้าแม่ค้าครวญพิษโควิด-19 รายได้หดไม่พอเลี้ยงชีพ (คลิป)

2020-04-01 16:10:26

พ่อค้าแม่ค้าครวญพิษโควิด-19 รายได้หดไม่พอเลี้ยงชีพ (คลิป)

Advertisement

พ่อค้าแม่ค้าโอดครวญโควิด-19 กระทบรายได้หด ไม่พอเลี้ยงชีพ ด้านลูกค้าที่ใช้บริการสั่งอาหารทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้พนักงานส่งอาหารเดลิเวอรี่รายได้พุ่ง

ผลกระทบจากโควิด-19 นอกเหนือจากสุขภาพแล้วยังส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจด้วย ทีมข่าวนิว 18 ได้ลงพื้นที่สำรวจตลาดสดย่านลาซาล ศรีนครินทร์ พบว่า บรรยากาศแตกต่างจากช่วงปกติที่จะมีคนมาเดินจับจ่ายใช้สอยกันในยามเช้า

“เงียบมาก คนเดินน้อยช่วงนี้” หนึ่งเสียงจากพ่อค้าขายกล้วยทอดไข่เต่า บอกกับทีมข่าวข่าวว่า รายได้ลดลงมาก จากเดิมที่เคยขายได้วันละ 2,000 บาท เหลือเพียงวันละ 1,000 กว่าบาท ผู้คนเริ่มลดน้อยลงตั้งแต่ต้นปีที่ไวรัสยังไม่ระบาดหนัก จนกระทั่งช่วงนี้ที่ระบาดหนักมาก คนก็ยิ่งน้อยลงไปเรื่อยๆ แต่ยังดีที่ต้นทุนในการขายของเท่าเดิมวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆยังไม่ขึ้นราคา


ขณะที่แม่ค้าขายปาท่องโก๋สังขยา บอกกับทีมข่าวว่า ช่วงนี้คนเดินตลาดน้อยเพราะกลัวไวรัสระบาด หลังเวลา 09.00 น.ของทุกเช้าตลาดเงียบเหงามาก ส่วนตัวได้ลงทะเบียนรับเงิน 5,000 บาทที่เป็นมาตรการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลแล้วแต่ไม่รู้ว่าจะลงทะเบียนผ่านหรือไม่ มองว่า 5,000 บาทไม่พอแต่ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรช่วยเหลือเลย อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือคนที่ตกงานให้มากขึ้น

พ่อค้าผลไม้รถเข็น บอกกับทีมข่าวว่า ตั้งแต่ไวรัสระบาดขายของเงียบมาก ขายของไม่ดี ยอดลดลงไปเยอะมาก จากเดิมที่ขายได้วันละ 500 บาท แต่ช่วงนี้ขายได้เพียง 200 -300 บาทเท่านั้น แม้จะขายของได้น้อยแต่ก็ต้องทำเพื่อเลี้ยงชีพ ขณะที่ต้นทุนในการขายของก็ยังอยู่ในราคาเท่าเดิม ส่วนตัวได้ลงทะเบียนรับเงิน5,000 บาทที่เป็นมาตรการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลแล้วแต่ไม่รู้ว่าจะผ่านหรือไม่ ลงไปก่อนดีกว่าไม่ได้อะไรเลย


ทางด้าน ร้านข้าวมันไก่ ย่านซอยลาซาล เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ใช้ไก่ต้มวันละ 18-19 ตัว ต่อวัน แต่ปัจจุบันเหลือแค่ 6-7 ตัวต่อวัน บางวันก็ขายเหลือ รายได้ลดลงเกินกว่าครึ่ง หลังจากมีมาตรการคุมเข้มห้ามตั้งโต๊ะให้ลูกค้านั่งรับประทานที่ร้าน ทำให้ตอนนี้ต้องเลิกจ้างพนักงานเสริฟ พนักงานล้างจาน เพื่อลดรายจ่าย แต่ก็ยังต้องสู้ ทำมาหากินต่อไป

ส่วนร้านก๋วยเตี๋ยว ย่านแบริ่ง เปิดเผยกับทีมข่าวนิว 18 ว่า จากเดิมขายหมดทุกวัน ลูกค้าแน่นร้าน แต่ตอนนี้บางวันไม่มีลูกค้าเลย มีเพียงแค่ช่วงเที่ยง ยังมีพนักงานออฟฟิศบางส่วนที่ยังคงทำงานอยู่มาซื้อกลับไปรับประทานที่ทำงาน ยอมรับว่า ตอนนี้เงินลงทุนแทบไม่คุ้มกับรายได้ จนต้องเลิกจ้างพนักงานเสริฟ ซึ่งหากเป็นอย่างนี้ต่อไปคาดว่าอนาคตจะต้องหยุดกิจการชั่วคราว ส่วนจะหันไปใช้บริการเดลิเวอรี่ออนไลน์หรือไม่ เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยว บอกว่า ตนขายในราคาถูก 40-50 บาท แต่หากต้องให้ลูกค้าสั่งเดลิเวอรี่ออนไลน์ จะต้องขึ้นราคาเนื่องจากผู้ประกอบการเดลิเวอรี่จะต้องหักเปอร์เซ็นต์ ค่าอาหารอีก 30 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถขายในราคาเดิมได้

ด้าน แม่ค้าร้านชานมไข่มุก ย่านลาดพร้าว บอกว่า ช่วงนี้ยอดขายลดลงมากแต่ก็เริ่มปรับตัวมาเน้นการขายแบบเดลิเวอรี่แทนแต่ยอดขายก็ยังน้อยอยู่ดี หายไปกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันวัสดุอุปกรณ์ที่เป็นต้นทุนก็ยังไม่ลดราคาลงตาม แม้ยอดขายจะเหลือน้อย ซึ่งจำเป็นต้องรักษาคุณภาพของที่ขาย นอกจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเงิน 5,000 บาทแล้ว ก็อยากให้รัฐออกกฎหมายช่วยเหลือผู้ค้าขายในเรื่องค่าเช่าที่เพราะช่วงนี้ยอดขายตกรานได้ลดน้อยลงแต่ค่าเช่าที่ก็ยังเท่าเดิมเป็นภาระหนึ่งที่ผู้ค้าจะต้องแบกไว้เช่นกัน

ขณะที่ พนักงานส่งอาหารเดลิเวอรี่ ส่วนใหญ่ เปิดเผยกับทีมข่าวนิว18 ว่า หลังจากรัฐออกมาตรการไม่ให้รับประทานอาหารที่ร้าน ลูกค้าที่ใช้บริการสั่งอาหารทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ต่อวันเฉลี่ย 10-20 เที่ยว รายได้อยู่ที่ 1,000-1,500 บาท ต่อวัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับความขยันของแต่ละคน ซึ่งขณะนี้ร้านอาหารทุกร้านที่ไปต่อคิวซื้อก็จะมีมาตรกรที่เข้มงวด ให้เว้นระยะห่าง ลดการสัมผัส มีเจลล้างมือบริการ และ พนักงานเดลิเวอรี่ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา แต่ก็ยังคงพบปัญหาอยู่บ้างเนื่องจากบางร้านปิดกิจการ แต่ไม่ได้แจ้งกับทางระบบ เมื่อรับออเดอร์มาก็ต้องยกเลิกและไม่ได้ค่าบริการจากลูกค้า