"บิ๊กตู่" ฝ่าวิกฤติร้อน เลือกทางไหนก็ชนะอยู่ดี

2020-03-10 18:35:45

"บิ๊กตู่" ฝ่าวิกฤติร้อน เลือกทางไหนก็ชนะอยู่ดี

Advertisement

เห็นมั๊ยล่ะ ว่ามั่นอกมั่นใจตัวเองแค่ไหน เมื่อตอบโต้กลับแชทหลุดประชาธิปัตย์ ที่สมาชิกรุ่นเก๋าแชทคุยกันในกลุ่มไลน์ ให้เลิกพายเรือให้โจรนั่ง

เมื่อ "บิ๊กตู่" หัวเรือใหญ่ โต้ใส่เสียงแข็ง ท้าทายให้ถอนตัวออก(จากรัฐบาล)ไปเลย

ส่งสัญญาณ "ไม่ง้อ" พลพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งความจริงก็เล่นการเมืองแบบ "ขี่คอ" พลังประชารัฐอยู่ก่อนแล้ว

ทั้งตำแหน่งประธานสภาฯของนายชวน หลีกภัย เก้าอี้รัฐมนตรีเศรษฐกิจเกรดเออย่างกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเกษตรกรผู้ผลิตพืชผลเศรษฐกิจหลัก ตั้งแต่ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

คงจำกันได้ ช่วงตั้งคณะรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 กลุ่มสามมิตรในพลังประชารัฐพยายามยื่นเงื่อนไขเสนอเอากระทรวงศึกธิการไปแลกกระทรวงเกษตรฯแต่ไม่สำเร็จ พรรคประชาธิปัตย์ยืนกราน 2 กระทรวงเดิม สร้างความชีช้ำให้กับพรรคที่เป็นแกนนำรัฐบาล เพราะเอากระทรวงดีๆไปให้เขาหมด เพียงเพื่อดึงมาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ส่ง "บิ๊กตู่" เป็นนายกฯอีกรอบให้ได้

ประชาธิปัตย์ได้ทียังยื่นเงื่อนไข 3 ข้อสำหรับเข้าร่วมรัฐบาล และ 1 ในนั้นคือต้องไม่มีเรื่องทุจริตคอรัปชั่น

ไม่รู้โชคดีหรือโชคร้าย ราคาพืชผลการเกษตร ที่พรรคประชาธิปัตย์ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ยังไม่ค่อยสัมฤทธิ์ผลมากนัก โดยเฉพาะยางพาราที่ยังวนเวียนอยู่ที่ 3 กิโล 100 บาท ที่เห็นเป็นเนื้อเป็นหนังคือราคาข้าวเปลือกเจ้าเกวียนละ 10,000 บาท ข้าวหอมมะลิ 15,000 บาท แต่ปัญหาคือขาดน้ำทำนาสำหรับนาปรังปีนี้ ขณะที่ข้าวนาปี 63/64 ยังไม่รู้จะเป็นอย่างไร เมื่อถูกคาดหมายว่าน้ำจะน้อยกว่าปีก่อนๆ 3-5% นั่นหมายความว่า ราคาสูงแต่ผลผลิตข้าวมีน้อย ชาวนาก็ยังลืมตาอ้าปากไม่ได้อยู่ดี

ต้องไม่ลืมว่า ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ค่าครองชีพสูง เป็นปัญหาที่ประชาชนทั่วไปเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขในลำดับต้นๆมาโดยตลอด และขณะนี้ เป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านสัมผัสได้ถึงความทุกข์ร้อนจากภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองอย่างเด่นชัดกว่าปีก่อนๆ โดยเฉพาะเมื่อภาคการท่องที่ยวและภาคบริการ โดน "หมัดน็อค" จากโรคโควิด 19 จนเดือดร้อนโดยถ้วนหน้า

ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจย่ำแย่ถึงขีดสุด รัฐบาลก็ยากจะอยู่ต่อไปได้ ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลที่นำโดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ลึกๆแล้วก็ต้องคาดหวังจะเห็นการเปลี่ยงแปลงโดยเร็ว เพื่อเรียกความศรัทธาจากประชาชนกลับคืนมา

ขณะที่ประชาธิปัตย์เองก็หลังพิงฝา ยังจำเป็นต้องอยู่ร่วมรัฐบาล เพื่อหวังสร้างผลงานเรียกศรัทธากลับมาเช่นกัน หาไม่แล้ว เลือกตั้งครั้งหน้า ไม่รู้จะเหลือที่นั่ง ส.ส. เท่าไหร่

หมากการเมืองแบบนี้ มีหรือพรรคพลังประชารัฐ รวมกระทั่งถึง "บิ๊กตู่" จะดูไม่ออก

การออกโรงปรามแบบท้าทายถึงขั้นหากแน่จริงให้ถอนตัวออกไปจึงเป็นเรื่องที่ทราบคำตอบล่วงหน้าจากประชาธิปัตย์ดีอยู่แล้ว

ยิ่งสถานการณ์เสียงปริ่มน้ำเดิม ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ มี ส.ส. บางส่วนย้ายสลับข้างไปอยู่พรรคร่วมรัฐบาลอย่างภูมิใจไทย เมื่อบวกกับ ส.ส. งูเห่าชุดแรก รวมไปถึงความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่ผ่านมา ได้เกิดปรากฏการณ์ "คุณขอมา" จนพรรคร่วมฝ่ายค้านถึงขั้นไม่ไว้วางใจกันเอง แม้ต่อมาจะมี "วันดวดไวน์" ปรับความเข้าใจกัน แต่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้มากบารมีในพรรคพลังประชารัฐกับแกนนำบางสายในพรรคเพื่อไทยก็มองข้ามไปไม่ได้

ดังเช่นกระแสข่าวปรับ ครม. ดึงเพื่อไทยเข้าร่วมรัฐบาล ทันที่ศึกซักฟอกเสร็จสิ้นลง

สมการการเมืองในขณะนี้ ด้านหนึ่งอาจขึ้นอยู่กับการประชุมหารือของแกนนำและ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ซึ่งถูกคาดหมายบทสรุปล่วงหน้าไว้แล้ว

แต่คำตอบสำคัญ จะยังอยู่ที่ "บิ๊กตู่" ว่าจะเอาอย่างไร เดินหน้าดันทุรังต่อไป หรือจะปรับเปลี่ยนบางตำแหน่งเพื่อให้ภาพลักษณ์ดูดี หรือแม้แต่ถอยจากตำแหน่งนายกฯชั่วคราว ก่อนจะกลับไปนั่งเก้าอี้นายกฯใหม่ ตามกลไกที่ปูทางไว้ในรัฐธรรมนูญ 60 แล้วล้างไพ่กันใหม่

ไม่ว่าจะเลือกทางไหน "บิ๊กตู่" ยังลอยลำเป็นผู้ชนะอยู่ดี