การเมืองมาเลเซียระอุ "มหาเธร์-อันวาร์" แย่งอำนาจ

2020-02-27 10:00:03

การเมืองมาเลเซียระอุ "มหาเธร์-อันวาร์" แย่งอำนาจ

Advertisement

การเมืองมาเลเซียวิกฤติหนัก เมื่อวันพุธ จากการแก่งแย่งอำนาจกันเอง ระหว่างพันธมิตรร่วมรัฐบาล โดย ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด พยายามจะตั้งรัฐบาลแห่งชาติ หลังการประกาศลาออกจากตำแหน่งอย่างกระทันหัน แต่นายอันวาร์ อิบราฮิม พยายามเดินเกมเพื่อกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่

พัฒนาการที่น่าตกตะลึง ทำให้วิกฤตถลำลึกลงไปอีก หลังจากพรรคร่วมรัฐบาล ที่รวมกลุ่มการเมืองของ ดร.มหาเธร์และนายอันวาร์ ในนาม พันธมิตรแห่งความหวัง หรือ ปากาตัน ฮารัปปัน ซึ่งคว้าชัยชนะการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2561 และจัดตั้งรัฐบาล เกิดความแตกแยกล่มสลาย จากการที่ ดร.มหาเธร์พยายามตั้งรัฐบาลชุดใหม่ โดยไม่มีพรรคความยุติธรรมของประชาชน หรือ พีเคอาร์ ของนายอันวาร์ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ตามข้อตกลงด้วยวาจา ดร.มหาเธร์จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อน "ชั่วระยะหนึ่ง" แล้วลาออก เพื่อเปิดทางให้นายอันวาร์ทำหน้าที่ต่อ แต่ ดร.มหาเธร์วัย 94 ปี ซึ่งดำรงตำแหน่งครั้งใหม่ ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2561 ยังไม่มีทีท่าจะวางมือ ทำให้นายอันวาร์ที่เฝ้ารอมานาน หมดความอดทน และเกิดการแตกหักขึ้น




ดร.มหาเธร์ ซึ่งยังทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีรักษาการ ยื่นข้อเสนอจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ที่ร่วมทุกพรรคการเมือง ยกเว้นพีเคอาร์ของนายอันวาร์ แต่ถูกปฏิเสธจากอย่างน้อย 4 พรรค รวมถึงพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติ หรือ อัมโน แกนหลักฝ่ายค้าน ที่เคยครองอำนาจเป็นรัฐบาลมายาวนาน โดยแกนนำพรรคอัมโนกล่าวว่า การเลือกตั้งใหม่ จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

ขณะเดียวกัน เมื่อวันพุธ สุลต่าน อับดุลเลาะห์ อาหมัด ชาห์ พระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย ทรงเรียกสมาชิกรัฐสภาเข้าเฝ้า เป็นวันที่ 2 จำนวน 139 คน หลังจากวันอังคาร 83 คน เพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขวิกฤตการเมืองของประเทศ ซึ่งรวมถึงการสรรหาบุคคลที่เหมาะสม เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หรือจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่



ทั้งนี้ ตามมาตรา 43 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญมาเลเซีย กำหนดไว้ว่า กษัตริย์มาเลเซียทรงมีพระราชอำนาจ และพระราชวินิจฉัยโดยตรง ในการแต่งตั้งบุคคลที่เหมาะสม ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี "ในภาวะคับขัน"

ด้านนายอันวาร์ อิบราฮิม แถลงเมื่อวันพุธว่า มี 3 พรรคการเมืองจากอดีตพรรคร่วมรัฐบาล เสนอให้เขาเป็นผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังดร.มหาเธร์ ลาออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ พรรคร่วม ปากาตัน ฮารัปปัน ไม่ได้ตกลงถึงความพยายามใด ๆ ในการตั้งรัฐบาล "ด้วยวิถีทางที่ผิดกฎหมาย"