“ศิลปากรเชียงใหม่” เดือด! ถูกปลอมออกใบเซอร์ศิลปวัตถุ

2020-02-19 14:45:22

“ศิลปากรเชียงใหม่”  เดือด! ถูกปลอมออกใบเซอร์ศิลปวัตถุ

Advertisement

สำนักศิลปากรที่  7 เชียงใหม่ เดือด! ถูกปลอมแปลงเอกสาร ออกใบเซอร์ศิลปวัตถุ ยืนยันเอกสารไม่จริง เพราะไม่มีนโยบายออกใบเซอร์ โลกโซเชียลแห่แชร์จำนวนมาก เตือนอย่าหลงเชื่อแก๊งมิจฉาชีพหลอกขายของโบราณ

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 19 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เพจเฟซบุ๊กของสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ที่ใช้ชื่อว่า "Archaeology 7 Chiang Mai" ได้มีการโพสต์ข้อความระบุว่า " มีผู้ปลอมแปลงเอกสารราชการ ด้วยสำนัก​ศิลปากร​ที่​ 7​ เชียงใหม่​ ได้รับการแจ้งเรื่องว่า​ มีการออกใบอนุญาต​สิทธิ์​ถือครองศิลปวัตถุโบราณ​วัตถุ​ โดยใช้ชื่อว่า​"สำนักทะเบียนกรมศิลปากรที่​ 7​ เชียงใหม่" สะท้อน​ถึงเจตนา​การแอบอ้างเพื่อผลประโยชน์​ในการค้าโบราณ​วัตถุ​ ผิดกฏหมายนั้น

ในการนี้​ สำนักศิลปากร​ที่​ 7​ เชียงใหม่​ ขอชี้แจงว่า​ 1.ไม่มีหน่วยงานหรือองค์กร​ที่ชื่อ​ "สำนักทะเบียน​กรมศิลปากร​ที่ ​7 ​เชียงใหม่" อยู่จริง​ 2.ไม่เคยมีการออกใบอนุญาต​สิทธิ์​ถือครอง​ศิลปวัตถุ​โบราณวัตถุ​ ตามที่กล่าวอ้าง การ​กระทำดังกล่าวถือว่าเป็นความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา​ หมวด​ 3​ มาตรา​ 265 ซึ่งตอนนี้ทางสำนัก​ศิลปากร​ที่​ 7​ เชียงใหม่​ ได้รับเบาะแสผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดครั้งนี้เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้สำนัก​ศิลปากร​ที่​ 7​ เชียงใหม่​ ขอแจ้งให้ประชาชนทุกท่านโปรดอย่าหลงเชื่อเอกสารปลอมแปลงดังกล่าว​ ตามภาพที่แนบมาพร้อมกันนี้ #เตือนภัยสังคม​ #ปลอมไม่เนียน" พร้อมกับโชว์ภาพเอกสารปลอมภายในเพจ ซึ่งมีประชาชนเข้าไปอ่านข้อมูลและมีการแชร์ออกไปในโลกโซเชียลเป็นจำนวนมาก




นายไกรสิน อุ่นใจจินต์ ผอ.สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้นทราบว่าเกิดขึ้นมาสักระยะหนึ่งแล้ว ยืนยันว่าทางสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ และทางกรมศิลปากร ไม่มีนโยบายออกใบรับรองโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่เรียกว่า ใบเซอร์ ให้ ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายให้กับทางพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเชียงใหม่ ไปดำเนินการตรวจสอบและแจ้งเตือนประชาชนในเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของแก๊งมิจฉาชีพเหล่านี้

ด้าน นายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผูอ.กลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ กล่าวว่า จากการเข้ามาสอบถามผ่านทางอินบล็อกข้อความเฟซบุ๊กเพจของสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ จะเห็นว่า สำนักทะเบียนกรมศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ตรงจุดนี้ก็ผิดแล้ว เพราะชื่อหน่วยไม่ถูกต้อง จุดที่สอง พระราชบัญญัติที่กล่าวอ้าง ตาม พ.ร.บ. 2540 ซึ่งกฎหมายตัวนี้ไม่มี แต่จะมีพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ปี พ.ศ. 2535 จุดที่สาม ชื่อนายทะเบียนจะเห็นว่าไม่ใช่ชื่อของเจ้าหน้าที่ โดยเขียนชื่อ-นามสกุล ออกโดยนายทะเบียนกรมศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ จุดที่สี่ จะเห็นว่าใช้ตรายาง เป็นตรารูปพระพิฆเนศ และมีคำว่ากรมศิลปากรด้านล่าง หากเป็นตราประจำกรม หน่วยราชการที่อยู่ในระดับกรมจะใช้เป็นตราครุฑ ในวงกลมสองวงกลมสีแดง และเขียนว่ากรมศิลปากร ซึ่งเป็นตราที่ใช้ในราชการ ส่วนตราพระพิฆเนศจะเป็นตราของกรม แต่เวลาใช้ในส่วนราชการจะใช้เป็นตราครุฑสีแดง แต่หากเป็นระดับกรมจะไม่ใช้ตราครุฑ



จุดที่ 5 จะเห็นเอกสารที่แย้งกันอยู่ เพราะด้านบนเอกสารจะเขียนว่า สำนักทะเบียนกรมศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ แต่ตรายางเป็นสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ตัวเอกสารก็มีความผิดพลาดอยู่แล้ว จุดที่ 6 ภาพถ่ายของโบราณวัตถุที่เอามาประกอบกับเอกสารปลอม จะเห็นว่าเป็นภาพขนาดเล็ก ซึ่งจะไม่กับภาพถ่ายที่ทางสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ทำเอกสารในการส่งออก ที่จะเป็นภาพใหญ่ ถ่ายไว้ทั้งด้านหน้า ด้านหลัง ด้านข้างและมีตรายางกำกับเมื่อมีการตรวจสอบเสร็จเรียบร้อย

หลังจากการตรวจสอบโบราณวัตถุเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทุกอย่างจะผ่านคณะกรรมการระดับสำนักฯ ซึ่งจะมีทั้งนักโบราณคดี ภัณฑารักษ์ฯ และเอกสารทุกอย่างทางท่านอธิบดีฯ ได้มอบหมายให้กับทางจังหวัดเชียงใหม่ โดยอำนาจของ ผวจ.เชียงใหม่ เป็นผู้ลงนามในการอนุญาต ดังนั้น กรณีใบเซอร์ที่ออกโดยกรมศิลปากร ที่จะใช้ในวงการค้าขายศิลปวัตถุต่างๆ จะไม่มีการออกให้ และใบที่เขานำไปแสดงหรือแอบอ้าง ก็คือใบเท็จทุกใบ ซึ่งเอกสารที่มีเพื่อซื้อขายในตลาดก็ถือว่าเป็นการแอบอ้าง ซึ่งหน่วยงาน องค์กร เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ดังนั้น หากพบใบเซอร์ที่ออกวางขายกันในประเทศ ยืนยันว่าไม่มีจริง มีแต่ใบนำเข้าราชอาณาจักร และส่งออกนอกราชอาณาจักรเท่านั้น

จึงขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพเหล่านี้ และหากมีอะไรต้องการสอบถามเพิ่มเติม ก็สามารถติดต่อมาได้ที่เพจเฟซบุ๊กของสำนักฯ เฟซบุ๊กของพิพิธภัณฑ์ และเฟซบุ๊กของกลุ่มโบราณคดี ทางเจ้าหน้าที่ยินดีที่จะช่วยกันป้องกัน และดูแลรักษาในส่วนของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่เป็นสมบัติของชาติ เพื่อไม่ให้ตกไปเป็นสินค้าสร้างความเสียหายต่อศิลปวัฒนธรรม และทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน