“หมอล็อต” แนะแนวทาง อยู่ร่วมกับ “ค้างคาว” อย่างปลอดภัย

2020-02-16 18:00:38

“หมอล็อต” แนะแนวทาง อยู่ร่วมกับ “ค้างคาว” อย่างปลอดภัย

Advertisement

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สร้างความหวาดกลัว หวั่นวิตกให้กับผู้คนทั่วโลกในขณะนี้ อันเนื่องเพราะหลายคนเชื่อกันว่า มีต้นเหตุมาจาก “ค้างคาว” ซึ่งแพร่เชื้อโรคสู่คนนั้น ล่าสุด นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ “หมอล็อต” ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว “ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน” ถึงวิธีอยู่ร่วมกับค้างคาวอย่างมีความเข้าใจ และไม่เบียดเบียนซึ่งกัน ซึ่งก็จะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข ดังนี้

Capt.Lotter:”SurvivalTogether HandBook” คู่มืออยู่รอดด้วยกัน ค้างคาวเป็นพระเอก ที่มีผู้ร้ายแฝงอยู่ในตัว ขอแค่อย่าดึงมันออกมา เข้าใจกันไม่เบียดเบียนกัน เราก็อยู่ด้วยกันได้ อยากอยู่รอดก็แชร์และใช้!!!

การวิตกกังวลกับ สถานการณ์ไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ หรือโรค COVID-19และไวรัสชนิดอื่นๆ ที่สันนิษฐานว่า ค้างคาวเป็นแหล่งรังโรค และสามารถถ่ายทอดผ่านตัวกลางแล้วติดต่อสู่คนได้ สร้างความหวาดกลัวและตื่นตระหนกเป็นอย่างมาก มีการแจ้งเหตุ ขอคำแนะนำ ความช่วยเหลือ จัดการค้างคาวที่อยู่ใกล้ชิดกับบ้านเรือนอาศัย จนบางพื้นที่มีแนวคิดที่จะไล่หรือทำร้ายค้างคาว ซึ่งนั่น เป็นวิธีการที่ไม่ได้ผล และอาจเกิดสิ่งไม่ดีตามมาอีกหลายประการ




โรคติดต่อระหว่างคน และสัตว์ป่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร? ก็เพราะมีความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว เนื่องมาจาก สาเหตุหลายประการ เช่น

1. ถิ่นอาศัยถูกบุกรุก ทำลาย หรือรบกวน การดัดแปลงเปลี่ยนสภาพแวดล้อม โดยมนุษย์หรือโดยธรรมชาติก็ตาม

2. การเปลี่ยนแปลงที่อยู่ เคลื่อนย้ายที่อาศัยของสัตว์ก่อโรค-อมโรค โดยมนุษย์หรือโดยธรรมชาติก็ตาม

3. การกลายพันธุ์ของเชื้อก่อโรค และความสามารถในการค้นพบโรคที่ไม่เคยทำได้มาก่อน




การอยู่ร่วมกันกับค้างคาวในสิ่งแวดล้อมที่สมดุลกัน ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบ ตัวอย่างกรณีเด็กๆในโรงเรียนแห่งหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่ที่มีค้างคาวอาศัยอยู่ ปักรูปค้างคาวไว้ที่เสื้อนักเรียนทุกคน และรู้ดีว่า “ค้างคาวพระเอก ที่มีผู้ร้ายแฝงอยู่ในตัว ขอแค่อย่าดึงมันออกมา เข้าใจกันไม่เบียดเบียนกัน เราก็อยู่ด้วยกันได้” แต่มีปัจจัยเสริมความเสี่ยงที่เกิดขึ้น คือ การบริโภคสัตว์ป่า เพราะ การจับต้องสัตว์ป่า-ซากสัตว์ป่า เนื้อเยื่อสัตว์ สิ่งคัดหลั่งมูลสัตว์ การชำแหละเปิดซากสัตว์ป่า เป็นโอกาสเสี่ยงมากที่สุดที่จะได้รับโรค เพราะเป็นการสัมผัสเชื้อโดยตรง ซึ่งผู้ที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ อาจมีจำนวนไม่มาก แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อคนทั้งโลกได้ เหมือนที่เป็นอยู่

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีประกาศและจัดทำมาตรการต่างๆที่เกี่ยวข้องหลายเรื่อง กับสถานการณ์นี้ ส่วนหนึ่งเร่งด่วนในนั้น คือ ร่วมจัดทำคู่มือ “การอยู่ร่วมกันกับค้างคาวอย่างปลอดภัย” กับศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, USAID ,WCS UC David , EcoHealth Aliance ,METABIOTA, Smithsonian Institution เพื่อเผยแพร่ไปให้มากที่สุด เพื่อประโยชน์อันสูงสุดของคนทั้งโลก เร็วๆจะจัดทำในเวอร์ชั่นภาษาต่างๆ ให้ได้นำไปปฎิบัติกัน

อย่าลืมนะครับ เรื่องเหล่านี้ ต่อให้เราไม่ใกล้ชิดโดยตรง แต่ก็มีความเสี่ยงได้ หากยังมีพวกที่บริโภคเมนูสัตว์ป่าอยู่ เราจะนิ่งเฉยแล้วเดือดร้อนเพราะคนเหล่านี้เหรอ ถ้าอยากอยู่รอด เริ่มต้นด้วยการแชร์และใช้กันนะครับ ลิงค์นี้ https://qrgo.page.link/3ZF4D



#SurvivalTogether.